เตือนเกษตรกรรับมือโรคราน้ำค้างในข้าวโพดฝักสด

07 ก.ค. 2560 | 05:24 น.
ในระยะนี้เริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูเพาะปลูกข้าวโพดฝักสด กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดฝักสด อาทิ ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเทียน และข้าวโพดข้าวเหนียว ให้หมั่นสังเกตอาการของโรคราน้ำค้าง มักพบแสดงอาการในระยะที่เริ่มเพาะปลูก เริ่มแรกจะพบบริเวณยอดมีใบข้าวโพดสีเหลืองซีด หรือใบลายเป็นทางสีเขียวอ่อนสลับเขียวแก่ บางครั้งพบยอดข้าวโพดแตกเป็นพุ่ม ต้นแคระแกร็น เตี้ย ข้อถี่ ไม่มีฝักหรือมีฝักขนาดเล็ก ก้านฝักมีความยาวมาก หรือมีจำนวนฝักมากกว่าปกติ แต่ฝักจะไม่สมบูรณ์ เช่น มีจำนวนเมล็ดน้อย หรือไม่มีเมล็ดเลย

ต้นกล้าข้าวโพด2 สำหรับแหล่งที่เคยมีการระบาดของโรค หากสภาพแวดล้อมเหมาะสม คือ มีอุณหภูมิต่ำ และมีความชื้นในอากาศสูง เมื่อข้าวโพดมีอายุ 5-7 วัน ควรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชไดเมโทมอร์ฟ 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20-30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารเมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นทุก 7 วัน และพ่นติดต่อกัน 3-4 ครั้ง

ต้นกล้าข้าวโพด3 นอกจากนี้ ในฤดูเพาะปลูกข้าวโพดฝักสดถัดไป เกษตรกรควรเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดที่ปลอดโรค และคลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชเมทาแลกซิล 35% ดีเอส อัตรา 7-10 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม หรือสารเมทาแลกซิล-เอ็ม 35% อีเอส อัตรา 3.5 มิลลิลิตรต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม หลีกเลี่ยงการเพาะปลูกข้าวโพดในฤดูที่มีการระบาดของโรครุนแรง กรณีพบเริ่มระบาด ให้ถอนต้นกล้าข้าวโพดที่แสดงลักษณะอาการของโรคไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที ด้วยเชื้อสาเหตุของโรค สามารถเข้าทำลายต้นข้าวโพดได้ตั้งแต่ในระยะที่ข้าวโพดเริ่มงอก ซึ่งการพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชหลังจากต้นข้าวโพดอายุ 20 วันขึ้นไป จะไม่สามารถป้องกันกำจัดโรคนี้ได้