คต.ทำหนังสืออุทธรณ์ชี้แจงคำสั่งระงับขายข้าว-ประมูลข้าว ชี้มีผลกระทบวงกว้าง

05 ก.ค. 2560 | 13:53 น.
กรมการค้าต่างประเทศทำหนังสืออุทธรณ์ชี้แจงคำสั่งระงับขายข้าว ประมูลข้าว ชี้มีผลกระทบวงกว้าง มูลค่าเสียหายกว่า 10,000 ล้านบาท ขณะที่ความต้องการนำเข้าข้าวไทยมีต่อเนื่องกว่า 5 แสนตัน

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ(คต.) กล่าวว่า กรมได้ยื่นอุทรณ์ต่อศาลปกครองกลางเมื่อวานนี้ เพื่อชี้แจงรายละเอียดและขั้นตอนการประมูลข้าวของรัฐว่ามีความโปร่งใส ว่าเป็นไปตามระเบียบที่ประกาศไว้ ประกอบกับที่ผ่านมา กรมได้เปิดประมูลข้าวมากว่า 27 ครั้ง ไม่เคยมีปัญหา ซึ่งกรมยืนยันว่ากระบวนการทำงานนั้นชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้หากรัฐสามารถเปิดประมูลข้าว ประเภท3 เพื่ออุตสาหกรรมที่ไม่ใช่เพื่อการบริโภคของคนและสัตว์ กว่า 5 แสนตันนั้น จะทำให้รัฐได้เงินใช้คืนหนี้เงินกู้กว่า 10,000 ล้านบาท

[caption id="attachment_175222" align="aligncenter" width="371"] นางดวงพร รอดพยาธิ์ นางดวงพร รอดพยาธิ์[/caption]

แต่หากยิ่งชะลอการเปิดประมูลใหม่ จะทำให้รัฐมีค่าใช้จ่ายในการแบกรับภาระในการดูแลข้าวจำนวนกว่า 5 ล้านบาทต่อวัน รวมทั้งยังมีผลต่อแผนการใช้ข้าวของผู้ที่ชนะการประมูลด้วย ดังนั้นหากสามารถจัดการระบายข้าวตามแผนที่คาดว่าจะหมดสต็อกรัฐบาลได้ในเดือนกรกฎาคม จะทำให้ตลาดข้าวสามารถเดินหน้าเป็นไปตามกลไกตลาด สร้างความเชื่อมั่นในการค้าข้าวของไทย และลดความกดดันเรื่องราคาข้าวได้

“หากการฟ้องร้องยิ่งยืดเยื้อจะยิ่งกระทบต่อตลาดข้าว เพราะการฟ้องร้องเป็นเรื่องผลประโยชน์เฉพาะของบริษัทเดียวเท่านั้น แต่ผลกระทบต่อภาพรวมนั้นค่อนข้างสูง และการฟ้องร้องที่เกิดขึ้นนั้น รัฐก็ไม่สามารถทำสัญญาได้กับผู้ที่ชนะการประมูล ทั้งข้าวในกลุ่ม2 ซึ่งเป็นข้าวที่ไม่ใช่เพื่อการบริโภคของคน ปริมาณกว่า 2 ล้านตันด้วย อาจจะส่งผลให้ผู้ที่ชนะการประมูลฟ้องร้องภาครัฐ และเกิดความเสียหายเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นที่ต้องให้คดีรีบจบลง เพื่อให้รัฐสามารถเปิดระบายข้าวในสต็อกส่วนที่เหลือ เพื่อลดผลกระทบตลาดข้าว และผลผลิตข้าวใหม่ที่จะออกมาด้วย”นางดวงพรกล่าว

ส่วนแนวโน้มการส่งออกข้าวในครึ่งหลังของปีน่าจะดีขึ้น เพราะขณะนี้มีหลายประทศสนใจนำเข้าข้าวจากไทย โดยล่าสุด บังคลาเทศสนใจจะนำเข้าข้าวนึ่งจากไทยกว่า 2 แสนตัน รวมถึงศรีลังกาด้วย ซึ่งจะทำให้ข้าวไทยที่จะออกมาในช่วงเดือนตุลาคม มีตลาดรองรับ เนื่องจากการทำข้าวนึ่งไทยไม่มีสต็อก ต้องใช้ข้าวสดมาอบแล้วนึ่ง รวมทั้งกระบวนการทำสัญญาต่างๆกว่าจะแล้วเสร็จถึงขั้นส่งมอบน่าจะพอดีกับช่วงผลผลิตข้าวออกสู่ท้องตลาดพอดี