‘จีพีเอสซี’ไขก๊อก 2 อัดเพิ่ม 3 พันล.ลุยโซลาร์ฟาร์มญี่ปุ่น

08 ก.ค. 2560 | 06:30 น.
“จีพีเอสซี”เครือ ปตท.จ่อทุ่มงบเพิ่มอีก 3 พันล้าน ลงทุนโซลาร์ ฟาร์มโครงการ 2 ในญี่ปุ่น ขยับรุกธุรกิจแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานสำรองสำหรับโรงไฟฟ้าเป็นสเตปต่อไป

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) (บมจ.)เปิดเผยระหว่างนำคณะสื่อมวล ชนศึกษาดูงานการรุกธุรกิจพลังงานทดแทนของบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ในเครือ ปตท. ณ ประเทศญี่ปุ่นว่า จีพีเอสซี (GPSC) ได้เข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์(โซลาร์ฟาร์ม) โครงการแรก ณ เมืองอิจิโนะเซกิ (ในนามบริษัท อิจิโนะเซกิ โซล่า พาวเวอร์ 1 จีเค หรือ ISP1) เมื่อ 2 ปีที่แล้ว มูลค่าการลงทุน 1 หมื่นล้านเยน หรือกว่า 3,000 ล้านบาท ความคืบหน้าขณะนี้อยู่ในช่วงการติตตั้งแผงโซลาร์เซลล์เสร็จไปแล้วประมาณ 30% โรงงานนี้จะมีกำลังการผลิต 20.8 เมกะวัตต์คาดจะแล้วเสร็จและส่งไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปลายปีนี้ และรับรู้รายได้ทันที โดยราคาขายไฟฟ้าของโครงการนี้อยู่ที่ 40 เยน หรือประมาณ 12 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง (kWh)

T02-3324c เหตุผลที่กลุ่ม ปตท.ลงทุนโรงผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น เนื่องจาก 1. ปตท.ได้เล็งเห็นกระแสของการผลิตพลังงานในโลกได้มุ่งไปสู่พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นก็ให้การสนับสนุน และ 2. การผลิตไฟฟ้าลักษณะนี้ในญี่ปุ่นค่อนข้างเป็นตลาดที่เปิดเสรีพอสมควรและราคาค่าไฟฟ้าเป็นไปตามกลไกตลาด

“ทิศทางที่จะเดินไปข้างหน้าสำหรับเรื่องของการผลิตไฟฟ้าทางปตท.ในนาม GPSC บริษัทกำลังมองหาช่องทางไม่ว่าจะเป็นในญี่ปุ่น หรือในประเทศอื่น แต่สิ่งที่ทางกลุ่มสนใจอย่างมากในขณะนี้คือ เทคโนโลยีในระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System (ESS) เป็นเหมือนแบตเตอรี่ขนาดใหญ่สำหรับกักเก็บไฟฟ้า ประโยชน์คือไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ที่ในญี่ปุ่นจะมีการใช้ประโยชน์ เพราะการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ๆ ในญี่ปุ่นก็ไม่ได้ง่ายเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการมีเอนเนอร์ยีสตอเรจ และผลักดันให้เกิดการผลิตไฟฟ้าจากแผงวงจรโซลาร์ตามบ้านเรือน หรือจากรายย่อยต่างๆ และสามารถที่จะนำไฟฟ้าที่ผลิตได้มากักเก็บเข้าในประจุแบตเตอรี่ก็น่าจะมีความเป็นไปได้อย่างมากในญี่ปุ่น”

สำหรับเอนเนอยีสตอ เรจถือเป็นอนาคตของธุรกิจไฟฟ้า ขณะนี้ GPSC ได้ไปลงทุนในเทคโนโลยีนี้ที่ประเทศสหรัฐ อเมริกา โดยถือหุ้นในบริษัท 24M Technologies Inc. หรือ 24M ซึ่งเป็นบริษัทค้นคว้าวิจัยเทคโนโลยีด้านแบตเตอรี่ลิเธียม ไอออน ซึ่งได้ค้นพบเทคโนโลยีที่สามารถนํามาใช้ผลิตแบตเตอรี่ที่มีระยะเวลาการผลิตสั้นลง และเก็บประจุ ไฟฟ้าได้นานขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาสู่ระดับอุตสาหกรรม โดยทาง GPSC ได้มีการตกลงกับเจ้าของสิทธิบัตร (24M) เพื่อรับสิทธิ์ในการทำโรงงานผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานสำรองในไทยและในเอเชีย ซึ่งทาง GPSC ก็ได้รับสิทธิดังกล่าวคาดในปลายปีนี้จะเห็นความคืบหน้าระดับหนึ่ง

[caption id="attachment_174776" align="aligncenter" width="503"] เติมชัย บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC เติมชัย บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC[/caption]

นายเติมชัย บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC กล่าวว่า นอกจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ISP1 ที่เมืองอิจิโนะเซกิแล้ว บริษัทยังมีแผนลงทุนในโครงการที่ 2 (ISP2) ในพื้นที่ติดกันขนาดกำลังผลิต 15 เมกะวัตต์ คาดใช้เงินลงทุนใกล้เคียงกับโครงการแรกที่ประมาณ 3,000 ล้านบาท ล่าสุดอยู่ระหว่างการศึกษา และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และน่าจะตัดสินใจได้ภายในปีนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,276 วันที่ 6 - 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2560