อาเซียนสู้ศึก OTA ข้ามชาติ

08 ก.ค. 2560 | 05:00 น.
ธุรกิจท่องเที่ยวผนึกกำลังสู้ศึกโอทีเอข้ามชาติ ส.โรงแรมและร้านอาหารอาเซียน เปิดเว็บไซต์ SmileAsean.com หวังลดผลกระทบถูกโขกค่าคอมมิสชัน ส่วนแหล่งท่องเที่ยวฮิต 28 แห่งรวมตัวสู้โอทีเอจีน

นางสาวศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าในขณะนี้สมาคมโรงแรมไทย ได้ร่วมมือกับสมาคมโรงแรมและร้านอาหารแห่งอาเซียน หรือAsean Hotel & Restaurant Association หรือ AHRA ในการผลักดันให้ธุรกิจโรงแรมในภูมิภาคอาเซียน เข้าร่วมเป็นสมาชิก Smile Asean. com ซึ่งเป็นเว็บไซต์จองโรงแรมที่ AHRA ได้พยายามผลักดันขึ้น เพื่อโปรโมตโรงแรมในอาเซียนโดยหวังจะทำให้เว็บไซต์นี้เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการขายห้องพักของผู้ประกอบการโรงแรมในภูมิภาคนี้ ที่จะช่วยลดผลกระทบจากการขายห้องพักผ่านทราเวล เอเยนต์ ออนไลน์หรือโอทีเอข้ามชาติ ที่ถูกเรียกเก็บค่าคอมมิสชันสูงเกินไป

[caption id="attachment_120783" align="aligncenter" width="503"] ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ[/caption]

ดังนั้น SmileAsean.com จึงเกิดขึ้นมา เพื่อหวังจะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการขายออนไลน์ ที่ช่วยลดทอนบทบาทของโอทีเอ ที่นับวันโอทีเอ จะมีบทบาทในการผูกขาดตลาดมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องจ่ายค่าคอมมิสชันในราคาสูงถึง 18-30% ทั้งยังถูกบีบให้ทำโปรโมชันขายห้องพักผ่านโอทีเอ และมีการจำกัดราคาขายทางออนไลน์ทำให้ต้นทุนด้านการตลาดออนไลน์เพิ่มสูงขึ้น

เว็บไซต์ดังกล่าวอยู่ระหว่างช่วงเริ่มเปิดตัว โดยข้อดีของ Smile Asean.com ที่ AHRA วางไว้คือ จะคิดค่าคอมมิสชันจากการขายห้องพักของผู้ประกอบการโรงแรม อยู่ที่ตํ่าสุด 10% ไม่มีค่าแรกเข้า ไม่มีค่าคอมมิสชันสำหรับเซอร์วิสชาร์จและภาษี และเงินที่ได้รับจากสมาชิก จะเป็นเงินอุดหนุนกลับคืนสู่สมาคมโรงแรมในประเทศ และยังสามารถขายผลิตภัณฑ์อื่นๆ อาทิ ห้องอาหาร, สปาได้

ขณะนี้สมาคมโรงแรมของมาเลเซียเริ่มแนะนำเว็บไซต์นี้แล้ว มีโรงแรมเข้าร่วมราว 100-200 แห่ง ส่วนไทยเพิ่งจะเริ่มราว 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ประกอบการโรงแรมไทยสนใจ ซึ่งสมาคมโรงแรมในภูมิภาคนี้ที่ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของ AHRA อยู่แล้ว ก็จะร่วมโปรโมตเว็บไซต์เพื่อดึงให้โรงแรมต่างๆ ร่วมเป็นสมาชิก

“การทำเว็บไซต์นี้ขึ้นมา ทางกลุ่มสมาคมโรงแรมในภูมิภาคนี้มองว่าเราต้องทำอะไรบ้างที่จะลดทอนบทบาทของโอทีเอ ซึ่งแม้เว็บไซต์ที่เราทำขึ้นมาอาจจะยังไม่ได้มีช่องทางขายทั่วโลกเหมือนที่โอทีเอมี แต่ก็ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย แล้วปล่อยให้โอทีเอผูกขาดตลาดไปเรื่อยๆ และหากเราทำให้ประสบความสำเร็จได้ อย่างน้อยก็จะเป็นโมเดล ที่ช่วยผู้ประกอบการขายห้องพักผ่านออนไลน์ได้ในอีกช่องทางหนึ่ง โดยจ่ายค่าคอมมิสชันที่สมเหตุสมผล และยังเป็นเครื่องมือการจองห้องพักที่สามารถนำไปใช้ได้บนเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย อี-เมล์ โปรแกรมส่งข้อความ เป็นการจัดทำข้อมูลครั้งเดียวขายออนไลน์หลายช่องทางโรงแรมได้รับบุ๊กกิ้งโดยตรง”

tp2-3276-5 ล่าสุดผู้ประกอบการแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำของไทยกว่า 28 แหล่งท่องเที่ยว อาทิ สยามนิรมิต, สยามโอเชียนเวิลด์, ทิฟฟานี,คาลิปโซ, ดรีมเวิลด์ รวมกลุ่มตั้งเป็นชมรมธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์ประเทศไทย เพื่อควบคุมไม่ให้โอทีเอจีน ตัดราคาค่าบัตรเข้าชม

นายนิพนธ์ บุญมาสุวราญ ประธานชมรมธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า หลังผู้ประกอบการแหล่งท่องเที่ยวจึงมีการรวมตัวกัน เพื่อตรวจสอบ ล่อซื้อ และควบคุมในเรื่องนี้ ซึ่งหากเราพบว่าโอทีเอรายใดมีพฤติกรรมตัดราคาก็จะเตือนก่อน หากทำผิดซํ้า ก็จะไม่ขายตั๋วแหล่งท่องเที่ยวให้โอทีเอนั้นๆ ซึ่งหลังการควบคุมในลักษณะนี้ ก็ทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นมากกว่า 67%

“ฐานเศรษฐกิจ” ยังพบว่า รูปแบบการดำเนินธุรกิจของโอทีเอข้ามชาติในปัจจุบัน ไม่เพียงการขายห้องพักออนไลน์ในกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมเท่านั้น แต่วันนี้ทั้งอโกด้า,บุ๊กกิ้งดอทคอม ต่างอยู่ระหว่างการโปรโมตให้คนทั่วไปที่มีเพียงบ้านพัก นำห้องพักมาให้เช่าผ่านระบบของโอทีเอข้ามชาติเหล่านี้ได้ เพื่อสร้างรายได้ ซึ่งเป็นรูปแบบการขายเหมือนกับ Airbnb (แชริ่งอีโคโนมีหรือเศรษฐกิจแบ่งปันที่กำลังได้รับความนิยม) เพื่อขยายรูปแบบการขายห้องพักผ่านออนไลน์ให้มีจำนวนมากขึ้น และทำให้ยิ่งมีอำนาจในการผูกขาดตลาดได้เพิ่มขึ้นไปอีก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,276 วันที่ 6 - 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2560