‘ทิสโก้’ชิมลางสินเชื่อบ้าน

06 ก.ค. 2560 | 06:00 น.
ทิสโก้ ฉวยจังหวะสินเชื่อรายย่อยเริ่มฟื้น หลังหมดโครงการรถคันแรก ดันสินเชื่อตามเป้า 5-10% เตรียมส่ง Mortgage Saver ชิมลางปล่อยกู้บ้าน ชูประหยัดดอกเบี้ย และลูกค้าโปะได้แห่งแรกของไทย เจาะลูกค้าคุณภาพรายได้ 3-5 หมื่นบาท

นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทิสโก้ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมสินเชื่อรายย่อยของธนาคารขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่คาดว่าจะทำได้ตามเป้าหมาย 5-10% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากโครงการรถคันแรกหมดลง จะเห็นว่าค่ายรถยนต์หลายค่ายออกมาปรับเป้ายอดขายรถยนต์เพิ่มเป็น 8.5-8.8 แสนคัน สะท้อนจากตัวเลข 4-5 เดือนเติบโตได้ดี และคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปียังคงมีแรงขับเคลื่อนตลาดต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามการเติบโตจะมากน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละแห่งว่ามียอดชำระคืนหนี้ (Re-Payment) มากน้อยระดับใด ในส่วนของธนาคารทิสโก้มีอัตราการเติบโตติดลบอ่อนๆ เนื่องจากมียอดชำระคืนค่อนข้างสูง ทำให้ยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 10% แต่หักยอดชำระคืนหนี้อาจจะไม่พอ ส่งผลให้ยอดสินเชื่อคงค้างเช่าซื้อมีอัตราติดลบประมาณ 4-5% แต่ภายหลังจากพอร์ตธุรกิจรายย่อยของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เข้ามาจำนวน 4 หมื่นล้านบาท จะทำให้พอร์ตสินเชื่อเป็นบวกได้ และไม่มีแรงกดดันต่อการเติบโตสินทรัพย์

[caption id="attachment_174681" align="aligncenter" width="335"] ศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทิสโก้ จำกัด(มหาชน) ศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทิสโก้ จำกัด(มหาชน)[/caption]

ขณะเดียวกันในภาวะนี้จะเห็นว่าหลายธนาคารจะให้ความสำคัญในเรื่องของต้นทุนมากกว่าการขยายการเติบโตสินเชื่อแบบก้าวกระโดด โดยทุกคนจะหันมาบริหารต้นทุน ทั้งในส่วนของต้นทุนเงินฝาก ต้นทุนเครดิต และต้นทุนบริหารจัดการ เช่นเดียวกับทิสโก้ที่ให้ความสำคัญในการบริหารต้นทุน เช่น ต้นทุนเงินฝาก ในช่วงที่สินเชื่อขยายตัวไม่มาก ทำให้ธนาคารไม่จำเป็นต้องระดมเงินฝากหรือออกหุ้นกู้โดยเสนออัตราดอกเบี้ยสูงเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งให้ธนาคารบริหารส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Spread) ได้ดียิ่งขึ้น

ขณะที่การบริหารต้นทุนเครดิตแม้ว่าธนาคารต้องตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญตามเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด แต่ก็มีบางส่วนที่สามารถตามกลับมาคืนมาได้ แม้ว่าจะมีกระบวนการติดตามหนี้หรือฟ้องร้องใช้เวลา 1-2 ปี แต่อัตราที่เรียกเก็บคืนได้เป็นไปตามที่คาดไว้ รวมถึงการเน้นปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างดี โดยใช้เครือข่ายของบริษัท ไฮเวย์ จำกัด บริษัทในกลุ่มธนาคารทิสโก้ ภายใต้แบรนด์ “สมหวัง เงินสั่งได้” ที่มีมากกว่า 160 แห่ง และภายในสิ้นปีจะเพิ่มเป็น 200 แห่ง ส่งผลดีต่อตัวรายได้ที่ธนาคารทำได้ดี

ทั้งนี้ ภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 พอร์ตธุรกิจรายย่อยจาก SCBT จะถูกโอนมาจำนวน 4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัย 2.5-2.6 หมื่นล้านบาท ที่เหลือจะเป็นบัตรเครดิต และเงินฝากอีกจำนวน 3 หมื่นล้านบาท โดยในส่วนของบัตรเครดิต หลังโอนพอร์ตธนาคารอาจจะมีการปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมตามไลฟ์สไตล์เพื่อให้ตรงกับฐานลูกค้าธนาคารมากขึ้น โดยอาจจะลดสิทธิประโยชน์บางอย่างและเพิ่มสิทธิประโยชน์บางอย่างเพิ่มขึ้น อาจจะมีการเชื่อมโยงกับประกันรถยนต์-ประกันภัย เป็นต้น

อย่างไรก็ตามระหว่างรอโอนพอร์ตธุรกิจจากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2560 ธนาคารจะเริ่มทำตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยของทิสโก้ก่อน ภายใต้ชื่อ “Mortgage Saver” เป็นผลิตภัณฑ์เดียวในไทยที่จะช่วยลูกค้าประหยัดดอกเบี้ย โดยลูกค้าสามารถชำระเงินได้เกินค่างวดที่กำหนดสูงสุด 50% ของเงินต้นคงเหลือ ซึ่งเงินที่ชำระเกินกว่าค่างวดจะถูกนำไปลดเงินต้นสินเชื่อบ้าน ทำให้ดอกเบี้ยที่จ่ายน้อยลง

นอกจากนี้ลูกค้ายังสามารถเบิกถอนเงินส่วนชำระเกินออกมาเพื่อใช้เป็นสภาพคล่องได้โดยอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ Mortgage Saver 3 ปีแรก อยู่ที่ 3.5-4%

สำหรับกลุ่มเป้าหมายของสินเชื่อ Mortgage Saver จะเป็นผู้มีรายได้ตั้งแต่ 3-5 หมื่นบาทต่อเดือน เน้นกลุ่มราคาบ้านตั้งแต่ระดับ 3-4 ล้านบาทขึ้นไป เนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้จะมีวินัยค่อนข้างดี และหากลูกค้าสามารถจ่ายเกินกำหนดจะยิ่งประหยัดดอกเบี้ย ทั้งนี้ ในเบื้องต้นจะมีเจ้าหน้าที่เครดิตและปล่อยสินเชื่อจาก SCBT บางส่วนประมาณ 10-15 คน มาช่วยทำตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้

“ระหว่างรอโอนธุรกิจจากสแตนชาร์ตวันที่ 1 ตุลาคมนี้ เราจะลองทำตลาดสินเชื่อบ้านของเราก่อน แต่มีเจ้าหน้าที่บุ๊กสินเชื่อจากสแตนชาร์ตมาช่วยดูให้ ซึ่งภายหลังจากที่เราพิจารณาภาวะเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย และการประเมินสินเชื่อต่อหลักทรัพย์คํ้าประกัน หรือ LTV เราจะเริ่มทำสินเชื่อมอร์เกจ เซฟเวอร์ ซึ่งเป็นโปรดักต์เดียวที่ลูกค้าสามารถโปะเงินได้ และยิ่งโปะมากจะยิ่งประหยัดดอกเบี้ย แถมมีสภาพคล่องให้ลูกค้าเบิกใช้ได้ เป็นโปรดักต์แห่งแรกของไทย”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,276 วันที่ 6 - 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2560