ทางออกนอกตำรา : จาก“ศาลถึงไทยพีบีเอส” มาตรฐาน”เลือกผู้นำ”

04 ก.ค. 2560 | 15:20 น.
2546879

ทางออกนอกตำรา 

จาก“ศาลถึงไทยพีบีเอส” มาตรฐาน”เลือกผู้นำ”

ณ ดินแดนอันไกลโพ้น ประชาชนต่างเฝ้าเรียกร้องและถามหามาตรฐานในการพิจารณาคัดเลือกผู้บริหารองค์กรของรัฐ เพื่อความโปร่งใส รับผิดชอบ ตรวจสอบได้...แต่ดูเหมือนว่ายิ่งเรียกร้อง ยิ่งลอยไปตามสายลม...ไม่หลงเหลือให้ผู้คนเฝ้าฝัน

แต่แล้วในวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา ก็เกิดปรากฏการณ์ที่สังคมอยากให้หน่วยงานในดินแดนแห่งไกลโพ้นเอาเป็นเยี่ยงอย่าง
ปรากฎการณ์ที่ว่า เกิดขึ้นในดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ ที่มีจารีตประเพณีการปฏิบัติที่สร้างศรัทธาให้เกิดมาอย่างยาวนานในประเทศไทย 

d3888

เมื่อที่ประชุมของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ครั้งที่ 13/2560 ซึ่งมีวาระสำคัญในการแต่งตั้งประธานศาลฎีกาคนใหม่ มีมติด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ 14 เสียงจากองค์คณะ 15 เสียง ไม่เห็นชอบในการแต่งตั้งให้นายศิริชัย วัฒนโยธิน ประธานศาลอุทธรณ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา เนื่องจากที่ประชุมเห็นว่า นายศิริชัย เป็นผู้ที่ไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งดังกล่าว แม้จะเป็นผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดก็ตาม

โดย 1 เสียงที่หายไปนั้น เป็นการขอออกไปจากห้องประชุมของนายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา อันดับที่ 1 ซึ่งมีอาวุโสรองจากนายศิริชัยในระหว่างการอภิปรายพิจารณาความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาคนใหม่ เพื่อแสดงสปิริต เพราะเห็นว่าตัวเองมีส่วนได้ส่วนเสีย

วันนั้นที่ประชุม ก.ต.ได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่เช้า ยันเย็น ก่อนจะลงมติไม่เห็นชอบ
ที่ประชุม ก.ต.ให้เหตุผลว่า ในการพิจารณาแต่งตั้งผู้บริหาร จะต้องคำนึงถึงความรู้ความสามารถ ในการบริหารงานศาล ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าหลักอาวุโส

หลังจากนี้ ก.ต.จะนัดประชุมเพื่อพิจารณาคัดเลือกประธานศาลฎีกาคนใหม่อีกครั้งในวันที่ 11 ก.ค.2560 ซึ่งในการเสนอครั้งใหม่ห้ามมิให้เสนอบุคคลเดิม...นั่นหมายถึงว่า นายศิริชัย หมดสิทธิ์...ไปโดยปริยาย

ผมไม่ขอฟื้นฝอยหาตะเข็บถึงมูลเหตุของการลงมติไม่เห็นชอบการแต่งตั้งประธานศาลฎีกาคนใหม่ และไม่ขอก้าวล่วงว่า ใครจะมาเป็นประธานศาลฎีกาคนใหม่ เพราะข้อมูลที่ปรากฏในสื่อก็พอมองเห็นเค้าลาง

แต่ที่อยากชวนคิดคือ ศาลยุติธรรมของไทยมีจารีตปฏิบัติในการพิจารณาคัดเลือกผู้นำองค์กรที่ดินแดนอันไกลโพ้น ควรยึดเป็นแบบอย่าง เพราะเพียงแค่ผู้ที่ควรขึ้นเป็นผู้นำองค์กรมีข้อครหา ข้อทักท้วงเพียง 1 เรื่อง แต่มีผลอย่างยิ่งใหญ่ในการพิจารณาคัดเลือก แต่งตั้ง

1

ภาพตัดกลับมาที่หน่วยงานของรัฐคือ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) ที่ได้รับการจัดสรรภาษีที่เรียกเก็บมาจากประชาชนปีละ 2,000-2,200 ล้านบาท และกำลังจะลงมติคัดเลือกผู้นำองค์กรคนใหม่ ผู้ที่คณะกรรมการสรรหา ซึ่งมี นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เป็นประธานคัดเลือกแล้วเสนอชื่อ ดังนี้ นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เจ้าของช่อง Nation TV22

อีกคนคือ รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล อดีตรอง ผอ.ไทยพีบีเอส สมัยทันตแพทย์ กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ เป็นผู้อำนวยการ และลาออกไป เพราะเอาเงินไปลงทุนซื้อหุ้นกู้บริษัทซีพีเอฟ ทั้ง 2 คน ล้วนมีข้อครหา

G0DL5oPyrtt5HBAi37S7WvWeUGRLuAJkGXKCnjKtEcad3ZzXvJPkTa

นายอดิศักดิ์นั้นต้องมลทินรุนแรงหลายเรื่องที่เป็นเรื่องใหญ่เพราะเป็นกรรมการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น แต่ไม่อนุญาตให้ผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุมและห้ามผู้ถือหุ้นบางรายออกเสียงลงคะแนนในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2558 ต่อมาเมื่อ 6 ต.ค.2559 ก.ล.ต.ประกาศว่า เป็นบุคคลที่มีมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัท ไม่สามารถดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียน ก่อนก.ล.ต.ออกกฎใหม่และปลดแบล็กลิสต์...

ลองว่าเป็นกรรมการแล้วนั่งบนที่ประชุมแต่กลับปล่อยให้เป็นแบบนี้ มาบริหารไทยพีบีเอสที่ประกาศตนเป็นสื่อสาธารณะใช้เงินหลวงสบายบรื๋อสะดือจุ่นปีละ 2,000 ล้านบาท แล้วห้ามใครมาจุ้นมาตรวจสอบอะไรจะเกิดขึ้น เชิญจินตนาการกันเอาเองนะพี่น้อง...

บาดแผลที่ซ้อนรูปอยู่แต่ชวนติดตาม คือนายอดิศักดิ์ ยังเป็นผู้อนุมัติให้นำเงินของ NBC ไปซื้อ NMG W3 ของบริษัทแม่ในวงเงิน 91 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าดังกล่าวลดลงอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันเหลือเพียง 18 ล้านบาท

คำถามคือ นำเงินมหาศาลไปซื้อวอร์แรนต์ของบริษัทแม่ทำไม ซื้อจากใคร และบริษัท NBC ได้ประโยชน์อะไร ความเสียหายจากการลงทุนใครจะรับผิดชอบ มีการถ่ายเทผลประโยชน์หรือไม่...ทำไมต้องลบชื่อ NMG W3 ออกไปจากหมายเหตุประกอบงบการเงิน...

ต่อมาในปี 2559 ได้มีการลงทุนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์สูงถึง 1,345 ล้านบาท เป็นการซื้อๆขายๆ  ซึ่งไม่ใช่การประกอบธุรกิจหลัก เป็นการใช้เงินที่ผิดวัตถุประสงค์บริษัท NBC หรือไม่…   และทำไมในปี2560 จึงได้เปลี่ยนวิธีการลงทุนมาเป็นตั้งกองทุนส่วนบุคคลแทน....มีอะไรซ่อนเร้นในกอไผ่...

ผมกลัวมากๆ เพราะไทยพีบีเอสที่ได้รับจัดสรรงบปีละ 2,000 ล้านบาทนั้น มีเงินสดเหลือใช้ไม่หมดอยู่ 6,700 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามาก และ ไม่ต้องส่งคืนคลัง หากมีใครนำเงินไปลงทุนอย่างอื่นละก็....

ขณะที่ รศ.ดร.วิลาสินี เข้าไปเกี่ยวพันในการลงนามอนุมัตินำเงินฝาก  193 ล้านบาท ไปลงทุนในหุ้นกู้ซีพีเอฟ ซึ่งเป็นกิจการนอกเหนือภารกิจหลัก และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์การจัดตั้งองค์การ รวมถึงขาดอำนาจในการสั่งจ่ายเงินจำนวนดังกล่าว เป็นการขัดระเบียบที่เกี่ยวข้อง ที่ต้องขึ้นอยู่กับกรรมการนโยบาย ซึ่งขณะนี้ สตง.ได้ขอให้พิจารณาดำเนินการกรณีการซื้อหุ้นกู้ ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 โดยเคร่งครัด

แม้ วิลาสินี จะชี้แจงว่าเป็นการลงนามตามหน้าที่ในขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งผ่านการอนุมัติของ ผอ. คือ หมอกฤษดามาแล้ว แต่มิได้หมายความว่ามลทินที่ทำให้อดีต ผอ.ลาออกไปนั้นจะหายไป เพราะ สตง.ยังตามล่าอยู่

ผมยังอยากรู้ว่า คณะกรรมการนโยบาย ของไทยพีบีเอส สื่อทีวีสาธารณะ ที่อาสามาทำหน้าที่ตรวจสอบคนอื่นจะลงมติอย่างไร อย่าทำให้คนในดินแดนอันไกลโพ้นเขาสิ้นหวังในผู้นำองค์กรสื่อนะขอรับเจ้านาย

คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา / หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษญกิจ / ฉบับ 3276 ระหว่างวันที่ 6-8 ก.ค.2560

E-BOOK แดง

ภาพ : http://news.thaipbs.or.th