‘รายการข่าว’ล้นจอ แนะ‘กสทช.’ปลดล็อกกฎทีวีดิจิตอล

08 ก.ค. 2560 | 06:00 น.
ชี้ทิศทีวีดิจิตอลเมืองไทย ผู้ประกอบการแข่งสร้างจุดแข็ง เดินหน้าโกยเรตติ้ง แนะ “กสทช.” ผ่อนปรนกฎระเบียบแก้ปัญหา “รายการข่าว” ล้นตลาด พบส่วนใหญ่รูปแบบ เนื้อหา การนำเสนอไม่แตกต่าง

นับจากปี 2557 ที่ประเทศไทยเริ่มสัญญาณออกอากาศโทรทัศน์ดิจิตอล ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ จากวันนั้นจนถึงวันนี้ 3 ปีเต็ม ภาพรวมของทีวีดิจิตอลเมืองไทยยังคงเดินหน้าต่อไป ท่ามกลางการพัฒนาด้านคอนเทนต์ และการตลาดเพื่อแข่งขันชิงเม็ดเงินโฆษณาซึ่งมีอยู่กว่า 6.7 หมื่นล้านบาทในสื่อโทรทัศน์เมืองไทย

[caption id="attachment_108651" align="aligncenter" width="335"] นวมินทร์ ประสพเนตร นวมินทร์ ประสพเนตร[/caption]

โดยนายนวมินทร์ ประสพเนตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด บริษัทในเครือโมโน กรุ๊ป ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ดิจิตอลช่อง โมโน 29 เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ภาพรวมของโทรทัศน์ดิจิตอลซึ่งเปิดให้บริการมา 3 ปีนั้น ถือว่ามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องแบบค่อยเป็นไป จากช่วงแรกที่ถือว่าอยู่ในภาวะฝุ่นตลบ จากผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องต่างไม่มั่นใจ แต่เมื่อภาพของทีวีดิจิตอลมีความชัดเจน และผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลแต่ละรายปรับกลยุทธ์พัฒนาคอนเทนต์ และจุดขายให้ตรงกับสิ่งที่ผู้ชมต้องการได้ เรตติ้งและเม็ดเงินโฆษณาก็เริ่มขยับสูงขึ้น

"ผู้ประกอบการทุกรายต่างหวังเม็ดเงินโฆษณาที่สูง โมโนฯเองก็เหมือนกันที่คาดหวังว่าจะได้เม็ดเงินมากกว่านี้ อย่างไรก็ดีสำหรับโมโนแล้ว ด้วยจุดเด่นที่วางโพสิชั่นนิ่งชัดเจนแต่เริ่มตั้ง ทำให้สามารถพัฒนาคอนเทนต์และมีจุดขายที่แตกต่าง ทำให้มีเรตติ้งที่ดีอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันช่องโมโน 29 ยังมีเรตติ้งติดอันดับ 1 ใน 5 ด้วย"

อย่างไรก็ดีนับจากนี้แต่ละช่อง เริ่มมีจุดแข็งที่ชัดเจน รู้ว่าผู้ชมต้องการอะไร และนำมาสร้างเพื่อให้ตรงใจผู้ชม โดยโมโนเองจะเพิ่มโลคัล คอนเทนต์ ไม่ว่าจะเป็นซีรีย์ไทยและคอนเทนต์ไทยให้มากขึ้น โดยแต่ละปีจะใช้งบลงทุนด้านคอนเทนต์ราว 800 ล้านบาท

"ขณะนี้ถือว่าทีวีดิจิตอลเมืองไทยเริ่มตกผลึก ผู้ประกอบการแต่ละรายเริ่มมีความชัดเจน รู้ว่าจะเดินไปในทางใด จึงเห็นการปรับผังรายการ คอนเทนต์ใหม่ๆ เข้ามา ทุกอย่างเริ่มเข้ารูปเข้ารอย และเริ่มแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้มากขึ้น" นายนวมินทร์ กล่าวและว่า

ในอนาคตหากกสทช. เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีความพร้อมสามารถอัพเกรดจากให้บริการจากความคมชัดปกติ (SD) เป็นความคมชัดสูง (HD) ได้จะเป็นสิ่งที่ดี รวมทั้งการผ่อนปรนสัดส่วนการนำเสนอรายการ เช่น รายการข่าว จากปัจจุบันที่กำหนดให้ต้องมีสัดส่วน 25% ทำให้ทุกช่องต้องนำเสนอรายการข่าว จนจนปัจจุบันเกิดภาวะ "ข่าวล้นตลาด" ขณะที่รูปแบบและการนำเสนอ ตลอดจนเนื้อหาไม่แตกต่างกันมากนัก จนควรผ่อนปรนลดสัดส่วนลงมาเหลือ 10% และนำเวลาไปนำเสนอรายการอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคแทน

MP39-3233-1 ด้านนายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทีวีประเทศไทยถูกผูกขาดมานานกว่า 50 ปี ทำให้ทุกอย่างผิดเพี้ยนไปหมด ประชาชนไม่มีทางเลือก วันนี้คนที่จะบอกว่าเราดีไม่ดีคือประชาชน สะท้อนผ่านเรตติ้ง ดังนั้นการเปิดเสรีอุตสาหกรรมสื่อทีวีถือเป็นโอกาสเพชรไม่ใช่โอกาสทอง ถ้าคุณชนะจะเป็นบริษัทที่แข็งแรงและมีผลตอบแทนมาก แต่ถ้าคุณแพ้จะเจ็บปวดและขาดทุนมหาศาล การเปิดประมูลเป็นวิธีดีที่สุด ไม่ว่าจำนวนช่องจะมากแค่ไหน ค่าประมูลจะสูงเท่าไหร่ เป็นเรื่องของผู้ประกอบการ แต่คนที่ได้ประโยชน์คือประชาชน จึงต้องปล่อยให้มีการแข่งขันเต็มที่

การก้าวเข้าสู่ปีที่ 4 นี้ อาร์เอสได้วางกลยุทธ์โดยทยอยเติมคอนเทนต์ใหม่ๆ ให้กับช่อง 8 อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการฟื้นตัวของเม็ดเงินโฆษณาที่คาดว่าจะฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง อาทิ ซีรีส์บอลลีวู้ดเรื่องใหม่ "หนุมาน สงครามมหาเทพ" ที่จะออกอากาศในช่วงไพร์มไทม์ทุกวันจันทร์-ศุกร์ และยังมีละครใหม่อีก 6 เรื่อง ทั้งแนวดราม่า คอมเมดี้ สยองขวัญ อาทิ ทรายย้อมสี, เพลิงรักไฟมาร, เงาอาถรรพ์, เสน่ห์นางครวญ ,ใจลวง, ดงผู้ดี และ บุษบาเปื้อนฝุ่น นอกจากนี้ยังมีผลิตรายการวาไรตี้เอง อาทิ ติดหนึบและสบายเดย์ เฮยกบ้านเป็นต้น

"อาร์เอสใช้เวลาร่วม 3 ปีในการบริหารธุรกิจตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการสร้างช่อง 8 ให้เป็นผู้นำทีวีระดับประเทศ จนขณะนี้คาดว่าจะสามารถทำเรตติ้งได้ 5แสนรายต่อนาทีภายในสิ้นปีนี้ และก้าวสู่สถานีโทรทัศน์อันดับ 4 ของประเทศ โดยแนวทางการดำเนินงานต่อจากนี้จะทยอยเติมคอนเทนต์ใหม่ๆ ของช่อง 8 อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการฟื้นตัวของเม็ดเงินโฆษณาที่คาดว่าจะฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง ไม่ว่าจะเป็นการส่งซีรีส์บอลลีวู้ด ออกอากาศควบคู่กับละคร รายการวาไรตี้ รายการข่าว และรายการมวยด้วย"

[caption id="attachment_174428" align="aligncenter" width="349"] ‘รายการข่าว’ล้นจอ แนะ‘กสทช.’ปลดล็อกกฎทีวีดิจิตอล ‘รายการข่าว’ล้นจอ แนะ‘กสทช.’ปลดล็อกกฎทีวีดิจิตอล[/caption]

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้นายประชุม มาลีนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท บีอีซีเวิลด์ และรองประธานกรรมการ บริษัท บีอีซีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารช่อง 33 ช่อง 28 และช่อง 13 กล่าวว่า เม็ดเงินในอุตสาหกรรมโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ลดลงไปประมาณ 10% ซึ่งภามรวมของช่อง 33 ก็มีทิศทางเดียวกับภาวะตลาด ส่วนช่อง 28 และช่อง 13 มีปริมาณเม็ดเงินโฆษณาลดลงมากกว่า 10% ด้วย ทำให้บริษัทต้องปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ โดยเพิ่ม 2 ธุรกิจได้แก่ ธุรกิจคอมเมอร์เชียล หรือธุรกิจบริหารลิขสิทธิ์ศิลปิน (Artist Management) และธุรกิจออนไลน์หลังจากที่เอเยนซี่และเจ้าของสินค้าลดงบประมาณการซื้อโฆษณาลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับภาวะการแข่งขันของธุรกิจทีวีดิจิตอลที่มีรุนแรง และมีผู้ประกอบการมากขึ้น นอกจากนี้ผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ยังดูรายการทีวีผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นด้วย

"คาดว่าธุรกิจใหม่ 2 กลุ่มนี้จะผลักดันให้บริษัทมีรายได้กลับมาเท่ากับปีที่ผ่านมา ซึ่งนับจากนี้บริษัทจะให้ความสำคัญกับ 2 ช่องทางนี้มากขึ้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ และรองรับกับการแข่งขันในธุรกิจทีวีดิจิทัลที่รุนแรง"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,276 วันที่ 6 - 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2560