ก.เกษตรฯควง 3กระทรวงร่วมแก้ไขปัญหาการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ป่า

04 ก.ค. 2560 | 09:57 น.
 

กระทรวงเกษตรฯจับมือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย บูรณาการร่วมแก้ไขปัญหาการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ป่าจังหวัดน่าน

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในจังหวัดน่าน ว่า ที่ประชุมเพื่อติดตามตามการแก้ไขปัญหาการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ป่า ได้เลือกจังหวัดน่าน เป็นจังหวัดนำร่อง สืบเนื่องจากเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีทั้ง 4 กระทรวง ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ป่าตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ซึ่งได้มีการตั้งคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในจังหวัดน่าน โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน และรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นรองประธาน ซึ่งได้มีการประชุมอย่างต่อเนื่องมา 5 ครั้ง มีการลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดน่านและวางกรอบการดำเนินงานร่วมกันทั้ง 4 กระทรวง

ทั้งนี้ จังหวัดน่าน มีพื้นที่ทั้งหมด 7.58 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่าอยู่ประมาณ 6.058 ล้านไร่ ในพื้นที่ป่านี้เป็นพื้นที่ป่าที่สมบูรณ์ประมาณ 4.394 ล้านไร่ เป็นที่ป่าที่ถูกบุกรุกไปแล้วประมาณ 1.6 ล้านไร่ ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวได้รวมถึงพื้นที่ที่ถูกบุกรุกโดยการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ประมาณ 943,000 กว่าไร่ โดยมีเป้าหมายลดการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่บุกรุกป่า ด้วยการดำเนินการใน 2 พื้นที่ ที่รับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยพื้นที่แรก คือ พื้นที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ เขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งมีพื้นที่บุกรุกรวมประมาณ 228,000 ไร่ ส่วนอีกพื้นที่เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ โดยทั้ง 2 พื้นที่ดังกล่าว มีแนวทางการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในพื้นที่อนุรักษ์จะมีข้อจำกัดในข้อกฎหมาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะดำเนินการโดยการลาดตระเวนในพื้นที่ป่าไม้เพื่อไม่ให้มีการขยายการบุกรุกเพิ่มเติม และนำพื้นที่ที่ยึดคืนมาได้มาทำการฟื้นฟูปลูกป่าในพื้นที่นั้นโดยร่วมมือกับชาวบ้าน พร้อมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับชาวบ้าน ควบคู่กับการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ

โดยขณะนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สามารถหยุดการทำลายป่าและลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ประมาณ 11,990 ไร่ ในช่วงตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านจนถึงปัจจุบัน และพื้นที่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ ซึ่งมี 2 ส่วน ได้แก่ 1.พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ,2 มีขั้นตอนการแก้ไขปัญหา 7 กิจกรรม เพื่อไม่ให้มีการบุกรุกพื้นที่เพิ่มเติม พร้อมทั้งฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้คืนโดยการปลูกไม้ป่าท้องถิ่น และส่งเสริมการสร้างเครือข่ายชุมชนและประชุมชี้แจงสร้างความร่วมมือกับชาวบ้านโดยสามารถลดการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ประมาณ 18,860 ไร่ และ 2. พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 3,4, 5 ซึ่งมีขั้นตอนการแก้ไขปัญหาในแนวทางเดียวกัน แต่เพิ่มการจัดหาที่ดินทำกินให้ชุมชนด้วย โดยสามารถลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ประมาณ 3,250 ไร่ รวมพื้นที่ลดการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ได้ประมาณ 22,110 ไร่ และรวมพื้นที่ลดการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ ได้ประมาณ 34,100 ไร่ โดยได้มีการเข้าไปฟื้นฟูผืนป่า และดำเนินโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกร

“ในภาพรวมของการแก้ไขปัญหาการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ได้ดำเนินงานในรูปแบบประชารัฐ สามารถลดการบุกรุกพื้นที่ป่า ซึ่งก่อนปี 2557 จะลดพื้นที่บุกรุกประมาณ 70,000 ไร่ต่อปี ขณะนี้ลดเหลือประมาณไม่ถึง 1,000 ไร่ต่อปี อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะต้องใช้เวลาในการดำเนินการเพราะเป็นปัญหาที่สะสมมากนาน โดยขณะนี้สามารถลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ ได้ประมาณ 34,100 ไร่ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้น้อมนำโครงการพระราชดำริเข้าไปสนับสนุนส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกรอีกกว่า 9,000 ไร่ รวมพื้นที่ที่สามารถลดการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่เขาหัวโล้นได้ประมาณ 40,000 กว่าไร่ ซึ่งได้วางแผนการดำเนินการไว้อย่างน้อย 5 ปี เพื่อฟื้นฟูผืนป่า ทำให้เกษตรกรมีรายได้ ทั้งนี้ จะมีการขยายผลในทุกพื้นที่ของจังหวัดน่าน หากประสบความสำเร็จก็จะนำโมเดลความร่วมมือทั้ง 4 กระทรวง ไปขยายผลการแก้ไขปัญหาการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่บุกรุกอื่นๆต่อไป” นายธีรภัทร กล่าว