‘ระนอง’ หนุนลากทางรถไฟเชื่อมอันดามัน-อ่าวไทย

06 ก.ค. 2560 | 04:49 น.
ภาคเอกชนระนองหนุนสร้างทางรถไฟเชื่อมอ่าวไทย-ท่าเรือนํ้าลึก เชื่อมเส้นทางการขนส่งกับกลุ่มประเทศเอเชียใต้

นายนิตย์ อุ่ยเต็กเค่ง อดีตประธานหอการค้าจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า ทางภาคเอกชนจังหวัดระนองสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟจาก จ.ชุมพรมายังท่าเรือระนอง ซึ่งจะเป็นระบบรางสำคัญในการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบการขนส่งทางเรือจากอ่าวไทยมายังอันดามันที่พยายามมีการผลักดันมานาน ที่ผ่านมา JETRO ได้ว่าจ้างบริษัท MITSUI ให้ทำการศึกษาการขยายขีดความสามารถท่าเรือระนองเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์จากท่าเรือดังกล่าวในการขนส่งสินค้าไปเมืองเชนไน ประเทศอินเดีย เพราะว่าในอนาคตเส้นทางการเดินเรือจะเปลี่ยนไป หากมีการขยายช่องแคบปานามาให้สามารถรองรับเรือคอนเทนเนอร์ขนาด 12,000 TEU ส่งผลให้รูปแบบการขนส่งสินค้าทางทะเลจากตะวันออกไกลไปยังอเมริกาฝั่งตะวันออกเปลี่ยนไป โดยการขนส่งสินค้าไปยังยุโรป ผ่านประเทศสิงคโปร์น้อยลง โดยฮับย้ายไปอยู่ในเอเชียใต้แทน

[caption id="attachment_175327" align="aligncenter" width="503"] นายนิตย์ อุ่ยเต็กเค่ง นายนิตย์ อุ่ยเต็กเค่ง[/caption]

"ผลสรุปจากบริษัท MITSUI ที่ได้สำรวจท่าเรือระนอง,กระบี่,เมาะละแหม่ง และทวาย พบว่าท่าเรือระนองมีต้นทุนต่ำที่สุด สามารถรองรับเรือขนาด 12,000 ตัน ที่น้ำลึก 8 ม. แต่ไม่สามารถรองรับเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ได้ และเห็นว่าท่าเรือระนองของไทยจะมีบทบาทเป็นฮับ เล็กๆ สนับสนุนฮับในเอเชียใต้"

นายนิตย์ กล่าวต่อไปว่า ระนองมีทำเลที่ตั้งเป็นประตูสู่ทะเลอันดามัน และมหาสมุทรอินเดีย สามารถใช้เป็นจุดเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างทะเลตะวันตก(อันดามัน) กับทะเลฝั่งตะวันออก (อ่าวไทย) เพราะมีระยะถึงกันสั้นที่สุด เหมาะแก่การขนถ่ายสินค้าระหว่าง 2 ฝั่งและขนถ่ายไปยังประเทศริมฝั่งทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดีย ท่าเรือระนองถือเป็นจุดใกล้ที่สุดในการขนส่งสินค้าจากภาคกลางไปยังกลุ่มประเทศ BIMSTECโดยไม่ต้องอ้อมแหลมมลายูผ่านช่องแคบมะละกา ช่วยร่นระยะเวลา-ระยะทางในการเดินเรือไปยังประเทศในแถบฝั่งอันดามันหรือมหาสมุทรอินเดียลงประมาณ 3 เท่าตัว

[caption id="attachment_174165" align="aligncenter" width="503"] ‘ระนอง’ หนุนลากทางรถไฟเชื่อมอันดามัน-อ่าวไทย ‘ระนอง’ หนุนลากทางรถไฟเชื่อมอันดามัน-อ่าวไทย[/caption]

"ศักยภาพในการรองรับสินค้าของท่าเรือระนอง ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ดีสำหรับการเชื่อมโยงระบบการค้ากับประเทศในเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง ยุโรป ปัจจุบันท่าเรือระนองสามารถรองรับเรือสินค้าขนาดไม่เกิน 1.2 หมื่นเดทเวทตัน มีเครื่องมือทุ่นแรงที่สำคัญคือปั้นจั่นหน้าท่าล้อยางขับเคลื่อนด้วยตนเอง (Mobile Harbour Crane) น้ำหนักยกไม่น้อยกว่า 63 เมตริกตัน 1 คัน ปั้นจั่นขนาด 50 ตัน 1 คัน รถยกตู้สินค้าหนัก 40 ตัน จำนวน 1 คัน รถยกตู้สินค้าเปล่า 7 ตัน จำนวน 1 คัน รถยกขนาด 10 ตัน 1 คัน ขนาด 3.5 ตัน 2 คัน และขนาด 2.5 ตัน 2 คัน รถยนต์หัวลากจำนวน 4 คัน และหางลากพ่วงตู้สินค้า 4 คัน ที่ผ่านมา ท่าเรือระนองได้ปรับกลยุทธ์เพิ่มบทบาทกิจกรรมการให้บริการเรือ ซึ่งเป็นกิจกรรมการรับมอบ เก็บรักษา ส่งมอบ วัสดุ อุปกรณ์สำรวจและขุดเจาะ ท่อก๊าซ น้ำมันดีเซล น้ำจืด ปูนซิเมนต์ผง เวชภัณฑ์ อาหาร ฯลฯ เนื่องจากรัฐบาลเมียนมาได้ให้สัมปทานบริษัทข้ามชาติเข้าไปขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในอ่าวเมาะตะมะ"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,276 วันที่ 6 - 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2560