ก.ม.แรงงานต่างด้าวใหม่ ‘หวานคอแร้ง’ใคร?

06 ก.ค. 2560 | 04:09 น.
บทความพิเศษโดย...ไพรัช วรปานี กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ

mp14-3276-1 เป็นข่าวฮือฮาในหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อโซเชียลมีเดีย ที่ผู้คนในทุกวงการให้ความสนใจและจับตาเป็นพิเศษขณะนี้คือ การประกาศใช้กฏหมายแรงงานต่างด้าวฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา อันมีบทลงโทษให้แรงขึ้น อย่างไร้ "ตรรกะ"....เกิดผลกระทบทำให้บรรดาเจ้าของโรงงานที่ต้องอาศัยแรงงานต่างชาติ ผู้ขายแรงงาน โดยเฉพาะชาวประมงทุกข์หนัก ไม่เป็นสุขตามๆ กัน เกิดภาวะการณ์ปั่นป่วนทั่วประเทศ จนกลายเป็นวิกฤติกฏหมายแรงงาน (ที่ 2) ต่อจากวิกฤติกฎหมายรถกระบะ ซึ่งย่อมมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศแน่นอน...ถามว่า ยิ่งกว่านั้นมันไปขัดต่อนโยบาย "คืนความสุขให้ประชาชน" ของ”ลุงตู่”หรือไม่?...(ฮา)

สุดท้ายก็เกิดเหตุการณ์ “อันไม่น่าจะให้เกิด” ตามคาดจนได้ นั่นคือ... "ตาก ปลดแรงงานพม่าแห่ข้ามแดนกลับบ้าน.. ประมงสงขลา หยุด 40% จนกระทั่ง เดือดร้อยถึง "ลุงตู่" ต้องงัด ม. 44 ออกมาใช้อีกครั้ง สั่งให้ชะลอโทษ ด้วยการยืดเวลาอีก 120 วัน และให้มีผลย้อนหลังถึง 23 มิถุนายน เพื่อแก้ความปั่นป่วนทั่วประเทศ "ในที่สุด....มันน่าไหม๊ละ?

โดยที่ผู้เขียน เคยเล่าเรียนกฎหมายมาจนจบเนติบัณฑิตไทย และมีความสนใจเกี่ยวกับความชอบธรรมของระบบกฎหมายของบ้านเมือง อยู่เป็นเนืองนิตย์ จึงต้องจับตากับประเด็นการคลอดพ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว โดยเร่งด่วนในครั้งนี้อย่างใกล้ชิด เพราะกฎหมายแรงงานดังกล่าว เมื่อประกาศอย่างเร่งรีบ ไม่เหมาะสมกับ “Timing' ย่อมก่อผลกระทบต่อระบบสังคมและเศรษฐกิจ โดยทางอ้อม อย่างมิอาจหลีกเหลี่ยงได้

ทั้งนี้ การบัญญัติกฎหมายมีหลักเกณฆ์อยู่ว่า จำต้องพิเคราะห์พิจารนาถึงความจำเป็นในการตรากฎหมายแต่ละฉบับ โดยเคร่งครัด ดูว่ามีความจำเป็นรีบด่วนเพียงไหน? การใดควรตราเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ซึ่งไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) แต่ต้องเป็นกรณีเร่งด่วนจำเป็นจริงๆ เท่านั้น ฉะนั้นเหตุใด? กฎหมายแรงงานดังกล่าว จึงต้องเร่งคลอดออกมาเป็นพระราชกำหนด ทั้งที่ กรณีปัญหาแรงงานต่างด้าว น่าจะออกเป็นพระราชบัญญัติ เพื่อเปิดโอกาสให้สนช.ได้ใช้ดุลยพินิจ พิจารนาและการอภิปรายถกเถียงถึงข้อดีข้อเสีย ด้วยความรอบคอบ สุขุมคำภีรภาพ

[caption id="attachment_174087" align="aligncenter" width="503"] ก.ม.แรงงานต่างด้าวใหม่ ‘หวานคอแร้ง’ใคร? ก.ม.แรงงานต่างด้าวใหม่ ‘หวานคอแร้ง’ใคร?[/caption]

ผู้เขียนอดไม่ได้ที่มีความเป็นห่วง "ลุงตู่" นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ซึ่งเชื่อว่ายังมีความหวังดีต่อชาติบ้านเมือง อาจไปหลงเชื่อคนรอบข้าง “มือไม่ถึง” และหวังได้อำนาจลาภลอย นำเสนอข้อมูลเฉพาะในด้านบวก โดยไม่เสนอแง่มุมด้านลบ พร้อมกับการจัดการให้ผ่าน (กฎหมายนี้)อย่างเร่งรีบ จนเป็นที่มาแห่งคำถามตามมามากมายในทำนองว่า กฎหมายฉบับนี้อาจเป็นเครืองมือของเจ้าหน้าที่ผู้ไม่สุจริตวางแผนล่วงหน้าเพื่อให้พวกได้"หวานคอแร้ง"หรือไม่?... (ฮา)

ดร.สมัคร เจียมบุรเศรษฐ์ อดีดเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และประธานกรรมการ Australia commercial Bank ผู้ “ค่ำหวอด”ทางกฎหมาย-เศรษฐกิจ มองว่า ในสภาวการณ์เช่นปัจจุบัน ประเทศของเรายังมีความจำเป็นต้องอาศัยแรงงานชาวต่างชาติอยู่ ฉนั้นการตรากฎหมายมีดีกรี “เข้มข้น” เกินขนาดแบบนี้ มันเร็วเกินควร จึงไม่น่าจะเป็นผลดีระบบเศรษฐกิจ-การเมืองแม้แต่น้อย ทำให้อยากฝากคำถามถึง...หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ว่าเหตุใด จึงปล่อยให้ พ.ร.ก.ฉบับน่าเป็นห่วงนี้ คลอดออกมาท่ามกลางสภาวะการณ์ที่ยังไม่พร้อม ไม่เหมาะสมได้อย่างไร? ทั้งที่ยังขาดมาตรการรองรับที่ดี ...เหตุไฉนจึงไม่ยับยั้งไว้ก่อน?... งงจริงๆ!

ขอเรียนว่า ผู้เขียนซึ่งได้กล่าวแล้วว่า มีความสนใจเป็นพิเศษ และกำลังเตรียมข้อมูลในการเขียนบทความวิเคราะห์เรื่องนี้อยู่ ก็เผอิญไปได้อ่านเจอบทความของ “แม่ลูกจันทร์”ในนสพ.ไทยรัฐ ปรากฎว่า เป็นข้อเขียนที่มีสาระอันทรงคุณค่า และมีเนื้อหาตรงกับเป้าประสงค์และประเด็นที่ผู้เขียนคิดจะเขียนวิจารณ์อยู่พอดี อ่านแล้วเห็นว่า เป็นข้อเขียนที่ดี ตีตรงจุดเสนอ สั้นกะทัดรัดแต่เต็มไปด้วยพลัง เน้นให้มีการแก้ไขและความห่วงใยอย่างจริงจัง เป็นรูปธรรม อ่านแล้วเกิด ”วิชั่น”และอรรถรส ควรแก่การนำมาถ่ายทอดต่อแก่ผู้ที่ยังไม่ได้อ่านอย่ายิ่ง เพราะ ”ภาพยนต์ดี ดูซ้ำกี่รอบก็ยังสนุก”...ว่าไหม?

ในบทความกล่าวไว้ตอนหนึ่งความว่า...

"กระชุ่นรัฐบาลให้รีบตัดสินใจแก้ไข พ.ร.ก.ฉบับนี้โดยด่วน!! ถ้าหากปล่อยให้พ.ร.ก.ฉบับนี้บังคับใช้ต่อไป จะเกิดปัญหาระส่ำระสายวุ่นวาย ขายปลาช่อนไม่สิ้นสุด!"

พร้อมกับกล่าวตรบท้ายไว้ว่า.."ด้วยความห่วงใย ..ก็ประทานกราบเรียนเตือนไว้แค่นี้แหละ!"

...เนื้อหาสาระในบทความ ตรงกับสิ่งที่ผู้เขียนอยากจะเขียนเตือนผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านนี้เมืองนี้ แป๊ะเลยครับ

แม่ลูกจันทร์ เน้นให้เห็นต่อไปอีกว่า "การที่เจ้าหน้าที่รัฐของไทยจำนวนมากเข้าไปพัวพันกับขบวนการค้ามนุษย์เสียเอง ทำให้การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ทำกันแบบลูบหน้าปะจมูก จึงเห็นด้วยที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.จัดระเบียบแรงงานต่างชาติที่เป็นแรงงานเถื่อนต้องไปลงทะเบียนแรงงานทั้งระบบ เพื่อให้มีศูนย์ข้อมูลแรงงานที่สามารถติดตามตรวจสอบได้สะดวก เนื่องจากปัจจุบันมีแรงงานต่างชาติ (พม่า เขมร ลาว) ผลุบๆ โผล่ๆ เข้ามาทำงานในเมืองไทยถึง 3 ล้านคน เป็นแรงงานจดทะเบียน 50% เป็นแรงงานเถื่อน 50%

ผู้เขียนมองอีกมุมหนึ่งว่า การเร่งรีบคลอดกฎหมายที่ยังไม่เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมืองตามความเป็นจริงในขณะนี้นั้น หากเกิดความเสียหายขึ้น อย่างกรณีกฎหมายห้ามนั่งท้ายรถกระบะ ซึ่งสุดท้ายก็ “ไม่เวิร์ค”ดังที่ปรากฎ จึงอยากรู้ว่ามีใครต้องรับผิดชอบบ้างไหม? หายหัวกันหมด! สุดท้ายอดสงสาร "ลุงตู่"ของเราไม่ได้ ต้องรับเต็มๆ ไปคนเดียว!?... (ฮาไม่ออก)

การออกกฎหมายดังกล่าว เห็นได้ชัดว่า ได้บัญญัติเพิ่มอำนาจให้อธิบดีกรมการจัดงาน มีอำนาจประกาศบัญชีรายชื่อ นายจ้างผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพ.ร.ก.นี้ ด้วยการไม่ออกใบอนุญาตงานให้กับคนต่างด้าวทำงานกับนายจ้างรายนั้นอีก ไม่น้อยกว่า 2 ปีนับแต่วันที่มีรายชื่อประกาศดังกล่าว พร้อมกับอำนาจการปรับเพิ่มโทษให้สูงขึ้น อาทิ ผู้ที่มีพฤติกรรมการค้ามนุษย์ เช่น การยึดเอกสารต่างๆ ของคนต่างด้าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ นายจ้างใดรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่แสนบาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ “ไม่เวิร์ค” กับสถนการณ์ปัจจุบัน

ดังนั้น อยากเสนอให้ “ลุงตู่”เรียกคน “ไร้กึ๋น”ที่เป็นต้นคิดให้ตรากฎหมายฉบับนี้ มาเขกกระบาลสักทีดีไหม?

ด้วยสัญเจตนา ผู้เขียน อยากจะฝันเห็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ทำการปรับปรุงแก้ไขกฏหมายฉบับและฉบับอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปากท้องชาวบ้านให้สอดคล้องกับสภาวะตามความเป็นจริงในสังคมปัจจุบัน ให้เป็นรูปธรรมอย่างจริงจังเสียที คือ การเน้นแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ “เป็นเรื่องเอก”ก่อนสิ่งอื่นใด ส่วนการจัดระเบียบ “เป็นเรื่องโท”ตามมาภายหลัง..

ดั่งคำกล่าวอันเป็น “อมตะ”ของ อดัม สมิธ (Adam Smith) นักปรัชญาศีลธรรม และนักเเศรษฐศาสตร์การเมือง ผู้สร้างทฤษฎีว่าด้วย ศีลธรรมเร้าอารมณ์ และการสอบสวนธรรมชาติสาเหตุแห่งความมั่นคงของประชาชาติ ที่ได้กล่าวไว้ว่า....

"No society can be flourishing and Happy of which the far greater part of The member are poor and miserable"

"ไม่มีสังคมใด รุ่งเรืองและผาสุขได้ หากผู้คนในสังคม ส่วนใหญ่ยังยากจนและข้นแค้น"

**3 มาตราป่วนแรงงานต่างด้าว
ร่างพ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ที่ถูกต่อต้านอย่างหนักจน หัวหน้าคสช.ต้องงัด ม.44 ผ่อนปรนการบังคับใช้ในมาตรา 101 102 และ 122 ออกไป 120 วันนับแต่วันที่ 23 มิถุนายน

เนื้อหาใน 3 มาตราดังกล่าว อยู่ในหมวด 8 บทกำหนดโทษ โดยใน ม.101 บัญญัติไว้ “คนต่างด้าวซึ่งมิใช่ผู้เสียหายจากการกระทำผิดฐานค้ามนุษย์ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ผู้ใดฝ่าฝืน ม.8 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”นั้น

บทบัญญัติใน ม.8 คือ ห้ามคนต่างด้าวทำงานที่โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ คนต่างด้าวที่ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับ 2 พันถึง 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในวรรคสองของ ม.101 ระบุด้วยว่า หากคนต่างด้าวที่ทำผิดข้างต้น ยินยอมเดินทางกลับออกไปนอกราชอาณาจักรภายในเวลาที่พนักงานสอบสวนกำหนด แต่ต้องไม่ช้ากว่า 30 วัน พนักงานสอบสวนจะเปรียบเทียบปรับก็ได้ เมื่อดำเนินการครบถ้วนแล้วถือว่าคดีเลิกกัน

ถัดมา ม.102 บัญญัติ”ผู้ใดรับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยฝ่าฝืนม.9 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 4 แสนบาทถึง 8 แสนบาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน”

ความในม. 9 ที่ระบุข้างต้น คือ ห้ามผู้ใดรับคนต่างด้าวเข้าทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ หรือรับคนต้างด้าวเข้าทำงานโดยที่คนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาต โดยม.102 ระบุให้มีโทษปรับ 4 แสน- 8 แสนบาทต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน

ส่วนม.122 ระบุถึงอัตราโทษปรับตั้งแต่ 4 แสน-8 แสนบาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน สำหรับผู้ฝ่าฝืนม.72 ที่บัญญัติห้ามผู้ใดรับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตทํางานกับตนเข้าทํางาน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,276 วันที่ 6 - 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2560