รัฐเฝ้าระวังภาคใต้ไฟดับ ซื้อจากมาเลเซีย 4-12 บาท/หน่วยรับมือช่วงพีก

06 ก.ค. 2560 | 12:40 น.
สนพ.เร่งมาตรการรับมือไฟฟ้าภาคใต้ดับ หลังแหล่งก๊าซเจดีเอ ปิดซ่อม 14 วัน สั่งปตท.ขนส่งน้ำมันดีเซลเข้าโรงไฟฟ้าจะนะเพิ่มเป็น 1 ล้านลิตรต่อวัน พร้อมซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซีย 4-12 บาทต่อหน่วย รับมือใช้ไฟฟ้าช่วงพีก ยันต้องเร่งสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่ม

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากเหตุขัดข้องแหล่งก๊าซธรรมชาติพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย หรือเจดีเอ เอ-18 เกิดปัญหาต้องหยุดผลิตชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นเวลา 14 วัน ส่งผลให้โรงไฟฟ้าจะนะ เครื่องที่ 1 ขนาดกำลังผลิต 710 เมกะวัตต์ ต้องปรับเปลี่ยนไปใช้น้ำมันดีเซลแทน แต่ทางกระทรวงพลังงานยังมีความเป็นห่วงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เกรงว่าจะเกิดปัญหาไฟฟ้าดับได้

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้สั่งให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เพิ่มการขนส่งน้ำมันดีเซล เพิ่มเป็น 1 ล้านลิตรต่อวัน จากเดิมอยู่ที่ 5-8 แสนลิตรต่อวัน เพื่อป้อนโรงไฟฟ้าจะนะ ขณะที่โรงไฟฟ้ากระบี่ใช้น้ำมันเตา กำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ ยังส่งไฟฟ้าจากภาคกลางเข้าไปเสริมภาคใต้ ซึ่งรับได้เต็มที่ 600 เมกะวัตต์ รวมทั้งซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง(พีก) อีกประมาณ 300 เมกะวัตต์ ราคาเฉลี่ย 4-12 บาทต่อหน่วย เพื่อทดแทนไฟฟ้าที่หายไปในช่วงดังกล่าว

อีกทั้ง ได้มีการผลิตไฟจากเขื่อนเชี่ยวหลาน 240 เมกะวัตต์, เขื่อนบางลาง 56 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าเอกชนจากผู้ผลิตรายเล็ก(เอสพีพี) 29 เมกะวัตต์ และเดินโรงไฟฟ้ากระบี่ ที่ใช้น้ำมันเตาอีก 100 เมกะวัตต์ ปัจจุบันความต้องการไฟฟ้าภาคใต้อยู่ที่ 2.35 พันเมกะวัตต์

"รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสั่งให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รายงานสถานการณ์ปิดซ่อม ทาง ปตท.เร่งขนส่งน้ำมันให้เพียงพอ ทาง กฟผ.ทำหน้าที่บริหารจัดการไฟฟ้าให้เพียงพอ ซึ่งสามารถบริหารจัดการได้เต็มที่ 1 พันเมกะวัตต์ แต่หากมากกว่านี้ก็จะยาก ซึ่งแผนรองรับสถานการณ์เจดีเอปิดซ่อมปี 2561 ก็คงต้องใช้มาตรการสมัครใจลดการใช้ไฟฟ้าหรือดีอาร์ ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน( กกพ.) เข้ามาเสริม"

[caption id="attachment_174053" align="aligncenter" width="503"] รัฐเฝ้าระวังภาคใต้ไฟดับ ซื้อจากมาเลเซีย 4-12 บาท/หน่วยรับมือช่วงพีก รัฐเฝ้าระวังภาคใต้ไฟดับ ซื้อจากมาเลเซีย 4-12 บาท/หน่วยรับมือช่วงพีก[/caption]

นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า จากเหตุการณ์ที่เกินขึ้นนี้ ถือเป็นเหตุสุดวิสัย และคงจะมีผลกระทบต่อค่าเอฟทีที่จะเกิดขึ้นในระยะอันใกล้นี้ จากการใช้น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา รวมถึงค่าไฟฟ้าที่รับซื้อจากมาเลเซีย และเหตุการณ์ครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ภาคใต้มีความอ่อนไหวความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งหากโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ขนาดกำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีก หรือเลื่อนการก่อสร้างออกไป จะยิ่งทำให้ภาคใต้มีความเสี่ยงที่จะเกิดไฟฟ้าตกหรือดับในอนาคต หากคาดการณ์เช่นนี้ ก็จำเป็นต้องเร่งสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติขึ้นมาทดแทน เช่น การขยายกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าจะนะ จังหวัดสงขลา เฟส 3 ขนาดกำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ ขึ้นมารองรับ โดยพึ่งการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจีมาใช้เป็นเชื้อเพลิง

ดังนั้น เพื่อรับวิกฤตไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในภาคใต้ ก็มีความจำเป็นต้องเร่งอนุมัติการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ร่วมถึงการลงทุนคลังเก็บก๊าซแอลเอ็นจีในรูปของเรือลอยน้ำหรือ FSRU และผลักดันให้เอกชนรายอื่นเข้ามาลงทุนในธุรกิจดังกล่าวนอกเหนือจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อให้เกิดการแข่งขันนำเข้าแอลเอ็นจี ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตราคานำเข้าจะถูกลง ปัจจุบันราคาแอลเอ็นจีตลาดโลกอยู่ที่ 5-6 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียู

โดยล่าสุดทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) แจ้งว่าการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีแอลเอ็นจีแก่บุคคลที่สาม (Third Party Access Regime: TPA Regime) พบว่าทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย( กฟผ.) และกลุ่มบริษัท กัลฟ์ สนใจนำเข้าแอลเอ็นจีเช่นกัน และหากในอนาคตมีเอกชนหลายรายนำเข้าแอลเอ็นจี ก็จะทำให้ต้นทุนนำเข้าแอลเอ็นจีถูกลงอีก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,276 วันที่ 6 - 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2560