Talent Thai & Designers’ Room 2017 ในตลาดโลกไร้พรมแดน

04 ก.ค. 2560 | 01:25 น.
ก้าวปัจจุบันของโครงการ Talent Thai & Designers’ Room 2017 ในตลาดโลกไร้พรมแดน

นักออกแบบโครงการ Talent Thai&Designers

ตลอดระยะเวลากว่า 15 ปีที่โครงการ Talent Thai & Designers’ Room ถือกำเนิดขึ้น จากความตั้งใจของ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนักออกแบบไทยให้สามารถสร้างแบรนด์ที่มีคุณภาพทัดเทียมกับแบรนด์ระดับโลก

โดยแต่ละปีโครงการได้มีการปรับและพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัยตามกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลก เช่นเดียวกับโครงการ Talent Thai & Designers’ Room 2017 ที่จัดขึ้นภายใต้คอนเซปต์ CREATIVITY BEYOND BORDERS ที่พร้อมผลักดันให้นักออกแบบไทยใช้ความคิดสร้างสรรค์นำพาแบรนด์ของตัวเองก้าวออกไปสู่ตลาดงานออกแบบโลกที่ไร้พรมแดน โดยนำหัวข้อ “Cross Culture - Cross Generation - Cross Platform” มาใช้เป็นแนวทางสร้างกิจกรรมตามแนวทางการบริโภคสินค้าและบริการที่ไม่แบ่งแยกวัฒนธรรมและช่วงอายุอีกต่อไป ผ่านรูปแบบการสื่อสารและการสร้างแบรนด์ที่หลากหลายไม่จำกัด ทำให้ 66 แบรนด์ที่ได้รับคัดเลือกแบรนด์ที่เข้าร่วมโครงการในปีนี้มีความแตกต่างจากปีที่ผ่านๆ มา

1

ม.ล. คฑาทอง ทองใหญ่ ผู้อำนวยการ สำนักส่งเสริมนวัตกรรมและการสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงแนวทางการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการในปีนี้ที่เปลี่ยนไปจากปีที่ผ่านมาว่า “ที่ผ่านมาเราจะเน้นถึงสินค้าของนักออกแบบว่ามีความแปลกใหม่ในการใช้วัสดุ เทคนิคด้านการผลิต หรือนวัตกรรมในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างไร ส่วนปีนี้ทางคณะกรรมการให้ความสำคัญต่อตัวนักออกแบบยิ่งขึ้น โดยปีนี้เป็นปีที่ 2 ที่เราให้นักออกแบบทำวิดีโอพรีเซนเทชันขึ้นมาเพื่อนำเสนอตัวเอง นำเสนอสินค้า และนำเสนอเรื่องราวของแบรนด์ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญต่อการเข้าถึงผู้บริโภค เนื่องจากสินค้าในตลาดโลกทุกวันนี้ไม่มีอะไรใหม่ แต่สิ่งที่ทำให้สินค้าของแบรนด์แตกต่างคือเรื่องราวหรือแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดชิ้นงานออกมา เรื่องราวเหล่านี้โดนใจผู้บริโภคมากกว่าตัวสินค้า ซึ่งเราเห็นว่านักออกแบบเริ่มมีทักษะในการนำเสนอมากขึ้น เพราะคนรุ่นใหม่เห็นโลกกว้างขึ้นและมีตัวอย่างงานส่งเสริมแบรนด์ในแง่ตลาดออนไลน์มากขึ้น ที่สำคัญคือเริ่มที่จะเข้าใจความหมายของแบรนด์ตัวเองว่าคืออะไร ทำให้สามารถเล่าเรื่องราวที่มาของการสร้างแบรนด์ได้อย่างชัดเจนกว่าที่ผ่านมา”

เขายังพูดถึงบทบาทของโครงการที่สามารถชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิตอลที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการ สร้างธุรกิจของนักออกแบบในยุคไทยแลนด์ 4.0 นี้ “นักออกแบบรุ่นใหม่อาจจะมีความรู้ด้านเทคโนโลยีมาบ้างแต่ยังไม่ได้นำมาใช้ สิ่งที่เราพยายามส่งเสริมคือผลักดันให้นักออกแบบเข้าไปอยู่ในระบบนิเวศน์นี้ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการยุคใหม่หรือสตาร์ทอัพมากมายในประเทศไทยที่พัฒนาระบบหรือโปรแกรมซึ่งสามารถให้บริการด้านการจัดการอย่างเช่น ระบบบัญชี การขนส่ง ซึ่งรองรับความต้องการทำธุรกิจของนักออกแบบไทยได้เป็นอย่างดี หน้าที่ของเราคือเป็นแกนกลางที่จะเชื่อมต่อนักออกแบบกับสตาร์ทอัพให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้ได้มากที่สุด ดังนั้นนักออกแบบได้โอกาสพบผู้ให้บริการใหม่ๆ ที่เอื้อต่อการทำงานของเขา และสตาร์ทอัพเองได้โอกาสในการหาลูกค้า เพราะฉะนั้นนอกจากหลักสูตรมากมายที่จัดขึ้นเพื่ออบรมพวกเขาแล้ว นี่คือสิ่งที่ทำให้โครงการนี้แตกต่าง

แบรนด์ ARTY and FERN

Designers’ Room นักออกแบบกลุ่มสินค้าแฟชั่น

ARTY&FERN

พื้นฐานด้านการออกแบบและความชอบแว่นตา เป็นแรงบันดาลใจให้ ชนกันต์ อุโฆษกุล เดินทางไปศึกษาด้านการออกแบบแว่นโดยเฉพาะ ก่อนที่จะกลับมาจับมือกับ อานิกนันท์ เอี่ยมอ่อง ซึ่งครอบครัวมีประสบการณ์ทำธุรกิจร้านแว่นที่มีความชำนาญเป็นอย่างดี จนเกิดเป็นแบรนด์ ARTY&FERN ที่รองรับการผลิตแว่นแฟชั่น รวมถึงการออกแบบและผลิตแว่นเฉพาะบุคคล หรือ Custom-Made เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้ที่มีความหลากหลาย ซึ่งยังไม่มีแบรนด์ใดในประเทศไทยให้บริการด้านนี้มาก่อน

เมื่อ ARTY&FERN มีความพร้อมที่จะตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้แล้ว จึงต้องการเพิ่มเติมความรู้ด้านการจัดการที่ยังขาดอยู่ ซึ่งชนกันต์หวังว่าจะได้รับจากโครงการนี้ “เวลาทำงานเป็นฝ่ายออกแบบในบริษัท เราไม่ต้องทำด้านการตลาดด้วยตัวเอง เมื่อตอนนี้ออกมาทำแบรนด์เองแล้ว โครงการจะอบรมเกี่ยวกับด้านการตลาดให้เรามากขึ้น” ขณะที่อานิกนันท์เสริมว่า “เราถนัดคิดงานเป็นคอนเซปต์ไอเดียมันเหมือนเยอะค่ะ อยากจะถูกจัดระเบียบให้มันถูกที่ถูกทางมากกว่า อีกเรื่องคืองานแสดงต่างประเทศ ต่างประเทศมีงานแฟร์ของแว่นโดยเฉพาะซึ่งไม่มีแบรนด์ไทยที่เคยได้ไปออกจริงๆ เราเคยไปในฐานะผู้เข้าชมแล้วรู้สึกว่าการที่ดีไซเนอร์ได้ไปอยู่ในฐานะแบรนด์นั้นเป็นอะไรที่เปิดกว้างมากค่ะ”

KALIS

แบรนด์ KALIS 1

เทรนด์ออกกำลังกายที่มาพร้อมกับการดูแลสุขภาพของคนยุคปัจจุบันทำให้ กัลยดา โลหเจริญวนิช และ ศิรดา งามนรา รัต สร้างแบรนด์ KALIS ขึ้นมาด้วยความตั้งใจว่าจะสามารถผลักดันชุดออกกำลังแบรนด์ไทยให้เป็นที่รู้จักเทียบเท่ากับแบรนด์ต่างประเทศได้ โดยนำเสนอจุดเด่นด้านเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย การพัฒนาเนื้อผ้า การตัดเย็บ ที่มีคุณภาพและมาตรฐานระดับโลกผนวกกับการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของลายเส้นที่ทะมัดทะแมง

กัลยดาหวังว่าโอกาสที่ได้รับจากโครงการนี้จะพาแบรนด์ไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ในอนาคต “เราต้องการให้แบรนด์ไทยทัดเทียบกับแบรนด์นานาชาติ เพราะเดี๋ยวนี้หลายประเทศมีสปอร์ตแวร์ของตัวเองเกิดขึ้นเยอะ ขณะที่ประเทศไทยมีแหล่งผลิตสินค้าประเภทนี้อยู่แล้ว เราเป็นดีไซเนอร์ก็อยากสร้างผลงานให้เห็นว่ามีแบรนด์ไทยนะ ซึ่งมันสำคัญมากที่เรามีหน่วยงานของทางรัฐบาลมาสนับสนุนแบรนด์ไทย ทำให้แบรนด์มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นในสายตาชาวต่างชาติ”

MUSLEENA

แบรนด์ MUSLEENA 1

ธิดาวรรณ ไวถนอมสัตย์ สร้างแบรนด์ MUSLEENA เสื้อผ้าสำหรับสตรีมุสลิม ด้วยการผสมผสานความศรัทธาที่มีต่อคำสอนของศาสนากับศิลปะด้านการออกแบบเข้าด้วยกัน ซึ่งเสื้อผ้าของแบรนด์นอกจากจะมีความสวยงามแล้ว ยังสอดคล้องกับวิถีชีวิตของสตรีมุสลิมที่ต้องสวมชุดยาว สามารถยกแขนเสื้อเวลาละหมาดได้ ใส่ง่าย ไม่รัดรูป มีรายละเอียดและลูกเล่นในการออกแบบ รวมถึงนำผ้าไทยมาใช้จึงมีความสบายเมื่อสวมใส่ ทำให้ได้รับความนิยมของชาวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทยเป็นอย่างมาก

“เสื้อผ้าของ MUSLEENA เรียกว่าเป็นแบรนด์ระดับบนของชาวมุสลิม ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นต้นแบบและผู้นำกระแสของเสื้อผ้าสตรีมุสลิมทั้งของไทยและต่างประเทศด้วย ดังนั้นเมื่อเราทำธุรกิจจริงจังมากขึ้น เราอยากพัฒนามาตรฐานให้เป็นระดับสากล เพราะแฟชั่นเสื้อผ้ามุสลิมแทบไม่มีผู้สนับสนุนผลักดันเลยทั้งๆ ที่ตลาดทั้งในอาเซียนและอาหรับมีกำลังซื้อและตลาดใหญ่มาก เราอยากได้รับโอกาสนั้น”

TAKARA WONG

แบรนด์ TAKARA WONG

ฐกร วรรณวงษ์ นำวัฒนธรรมย่อย หรือ Subculture ที่ผสานกับดนตรีและกีฬาประเภทต่างๆ มาใช้ในทิศทางการออกแบบ แบรนด์เสื้อผ้าสตรีทแวร์ของ TAKARA WONG โดยผลงานแต่ละชุดที่ไม่ยึดติดกับเทรนด์แฟชั่นการเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้แบรนด์ได้รับความนิยมจากลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

ซึ่งแม้เขาจะมีเว็บไซต์ที่รองรับการสั่งซื้อจากต่างประเทศอยู่แล้ว แต่ยังหวังว่าจะมีโอกาสเปิดตลาดไปยังประเทศอื่นๆ หลังจากเข้าร่วมโครงการแล้ว “ที่สนใจโครงการนี้เพราะเขามีการประสานงานกับแฟชั่นวีคของต่างประเทศซึ่งน่าจะส่งเสริมเป้าหมายของแบรนด์ได้ ที่สำคัญเขายังจัดการอบรมจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญที่ให้ความรู้อีกหลายๆ เรื่องที่เรายังขาดอยู่ครับ”

QOYA

แบรนด์ QOYA

จุดเด่นของทะเลไทยที่สวยงามคือแรงบันดาลใจให้ วิริยา เตชะไพฑูรย์ สร้างสรรค์แบรนด์ QOYA ที่ผลิตเสื้อผ้าและของใช้ สำหรับการท่องเที่ยวพักผ่อนชายทะเล ซึ่งนอกเหนือจากเอกลักษณ์ด้านการใช้สีในชิ้นงานแล้ว ยังมีแนวคิดด้านการออกแบบเสื้อผ้าด้วยแพทเทิร์นแบบเรขาคณิต ที่ทำให้เสื้อผ้าของแบรนด์เป็นลักษณะฟรีไซส์ เข้ากับทุกรูปร่างของผู้สวมใส่ ขณะเดียวกันยังมีขยะหลงเหลือจากกระบวนการผลิตน้อยมาก

แบรนด์ QOYA_1

โดยเธอคาดหวังว่าเมื่อแบรนด์เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติแล้ว จะทำให้ชาวต่างชาติรู้จักประเทศไทยมากขึ้น “อยากให้วันหนึ่งเมื่อแบรนด์สุกงอมเต็มที่แล้ว ต่างประเทศรู้จัก พอเขาแหวกป้ายมาเห็น Made in Thailand เขาจะได้รู้ว่าสินค้ามาจากประเทศไทย ซึ่งทุกคนรู้อยู่แล้วว่าทะเลที่นี่สวย แต่ตอนนี้ QOYA ไม่ได้เป็นแค่งานคราฟท์แล้ว มันเป็นธุรกิจ เพราะฉะนั้นในฐานะดีไซเนอร์บางทีก็ต้องแบ่งเวลาไปทำงานอีกหลายอย่าง ซึ่งตอนนี้เมี่ยงหวังว่าจะมีการร่วมมือในการพัฒนาสินค้าให้เติบโตมากขึ้น คุณภาพดียิ่งขึ้น เพื่อเอาไปเล่าต่อได้ว่าสินค้าเหล่านี้มาจากประเทศไทย”