กรมสุขภาพจิต ใช้“กลยุทธ์ 3 ซี” ป้องกัน 3 กลุ่มผู้ป่วยจิตเวชเสี่ยงก่อความรุนแรง

02 ก.ค. 2560 | 02:40 น.
กรมสุขภาพจิต เร่งสร้างระบบความปลอดภัยให้แก่ชุมชนและสังคมจากผู้ป่วยจิตเวช  ในปี 2560 นี้ เน้นป้องกันเป็นกรณีพิเศษในผู้ป่วย 3 กลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มก่อความรุนแรงได้แก่ โรคจิตเภท โรคอารมณ์ 2 ขั้ว และโรคซึมเศร้า โดยให้การดูแลต่อเนื่องหลังรักษาเชื่อมโยงโรงพยาบาลจิตเวชกับเครือข่ายพื้นที่ทั่วไทย ใช้กลยุทธ์ 3 ซี สร้างการมีส่วนร่วมทั้งตัวผู้ป่วยให้ยอมรับการกินยาเพื่อรักษา ชุมชนร่วมมือปันโอกาสให้ และสร้างทักษะผู้ดูแลในครอบครัว ให้จับตาสัญญาณเตือนอาการผิดปกติได้เร็ว พัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉินในโรงพยาบาลชุมชน ให้การช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงทีและปลอดภัย

[caption id="attachment_173107" align="aligncenter" width="503"] นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์[/caption]

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่าจากสถานการณ์ปัจจุบันที่มีเหตุการณ์ก่อความรุนแรงสะเทือนขวัญในครอบครัวหรือกับประชาชนทั่วไปปรากฏทางสื่อต่างๆ  ซึ่งผู้ก่อเหตุบางส่วนจะเป็นผู้ป่วยทางจิตเวชที่เคยรักษาตัวในโรงพยาบาลจิตเวชมาก่อนและมีอาการกำเริบ เนื่องจากการขาดการรักษาต่อเนื่อง ไม่กินยา หรือใช้สารเสพติดร่วมด้วยซึ่งมีความเสี่ยงก่อความรุนแรงได้มากเมื่อเทียบกับผู้ป่วยทางจิตเวชที่รับการรักษาตัวและดูแลตัวเองสม่ำเสมอ   ซึ่งในปี 2560 นี้ กรมสุขภาพจิตได้เร่งจัดระบบป้องกันปัญหา เพื่อสร้างความเข้าใจ ความมั่นใจและความปลอดภัยกับสังคม  2 ส่วน ส่วนแรกคือการจัดระบบการดูแลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มก่อความรุนแรง    เน้นป้องกันเป็นกรณีพิเศษ 3 กลุ่มโรคได้แก่ โรคจิตเภท โรคอารมณ์ 2 ขั้ว และโรคซึมเศร้า  ภายหลังให้การบำบัดรักษาจนอาการสงบแล้ว จะมีระบบการส่งต่อดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องระหว่างโรงพยาบาลจิตเวชทั่วประเทศซึ่งเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางกับโรงพยาบาลเครือข่ายในเขตสุขภาพจนถึงระดับปฐมภูมิและชุมชน

ส่วนที่ 2 ได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสปสช. พัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังกลุ่มเสี่ยงในชุมชนทั่วประเทศซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการใช้ชีวิตของผู้ป่วยร่วมกับคนอื่นๆ  โดยใช้กลยุทธ์ 3 ซี  สร้างระบบดูแลแนวใหม่ เน้นการมีส่วนร่วม 3 ฝ่าย เนื่องจากผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังต้องใช้เวลารักษายาวนาน ต้องอาศัยความอดทนกินยาต่อเนื่อง ประกอบด้วยซีที่ 1 คือ ตัวผู้ป่วย (Client) ใช้หลักการยาถึง พึ่งตนเอง เข้าใจ เน้นให้ผู้ป่วยยอมรับว่าตนเองป่วย กินยาต่อเนื่อง และฟื้นฟูทักษะดูแลตนเอง ซีที่ 2 คือผู้ให้การดูแลในครอบครัว(Caregiver)  มีความเข้าใจ ใส่ใจยอมรับผู้ป่วย และสอดส่องสัญญาณเตือนเมื่อมีอาการผิดปกติ มีทักษะดูแลผู้ป่วยอย่างถูกวิธีและมีแหล่งช่วยเหลืออย่างทันท่วงที  หากผู้ป่วยได้ยาดี และญาติดูแลดี จะมีอาการดี เพิ่มคุณภาพชีวิตและลดอาการป่วยซ้ำได้มาก และซีที่ 3 คือ ชุมชน (Community) ที่ผู้ป่วยอยู่  ให้การยอมรับ มองการเจ็บป่วยว่าเป็นปัญหา เป็นความทุกข์ของชุมชน และร่วมมือกันปันโอกาสให้กำลังใจแก่ผู้ป่วย ให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสังคมได้    โดยได้มอบหมายให้สำนักบริหารระบบบริการสุขภาพจิต เป็นแกนหลักดำเนินการร่วมกับโรงพยาบาลจิตเวช ตั้งเป้าหมายให้การดูแลผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวครอบคลุมร้อยละ 95  ได้รับการดูแลต่อเนื่อง ไม่มีปัญหาการขาดยา มีอาการสงบ ไม่ก่อความรุนแรงต่อครอบครัวและสังคมรอบข้าง

ทางด้านนายแพทย์บุรินทร์  สุรอรุณสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กล่าวว่า ในการพัฒนาระบบการป้องกันผู้ป่วยจิตเวชก่อความรุนแรงในชุมชน   ได้พัฒนาฐานข้อมูลผู้ป่วยเพื่อเชื่อมโยงการดูแลอย่างต่อเนื่องระหว่างโรงพยาบาลจิตเวช 19 แห่ง กับเขตสุขภาพทั้ง 12 เขต  โดยสำนักบริหารระบบบริการสุขภาพจิตได้ร่วมกับโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จัดทำคู่มือการดูแลผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังกลุ่มเสี่ยงในชุมชน เพื่อใช้เป็นแนวทางดำเนินงานให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ตั้งแต่การดูแลรักษาไม่ไห้ขาดยา การฟื้นฟูสมรรถภาพ การฝึกทักษะการใช้ชีวิตในชุมชน การส่งต่อผู้ป่วยพัฒนาระบบบริการจิตเวชฉุกเฉินในโรงพยาบาลชุมชน สามารถให้การดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่อาการกำเริบคลุ้มคลั่ง ก้าวร้าวได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย

นอกจากนี้ ได้พัฒนาระบบการเยี่ยมบ้านป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้ป่วยอาการกำเริบเช่น การใช้ยาเสพติด การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ สร้างความรู้ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของชุมชน  ประการสำคัญจะมีการตรวจคัดกรองคนในชุมชนที่มีอาการผิดปกติทางจิตใจ รวมทั้งจัดทำหลักเกณฑ์การประเมินคัดกรองค้นหาผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังที่อยู่ในชุมชนและมีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรงตามเกณฑ์ได้แก่ มีประวัติมีอาการหลงผิดและมีคดี เพื่อนำเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง และอบรมเพิ่มพูนทักษะให้ญาติที่ดูแลผู้ป่วยในครอบครัว เพื่อลดความเครียดและมีทักษะในการสังเกตสัญญาณเตือนอาการกำเริบของผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว