ชำแหละ‘นักการเมือง’ ผลาญงบดูงานเมืองนอก

02 ก.ค. 2560 | 00:24 น.
กรณีที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. เตรียม “จัดระเบียบ” การเดินสายดูงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ที่ในอดีตพบว่ามีการใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่ไม่เกิดประโยชน์จากการดูงานนั้นกับประเทศเท่าที่ควร

เรื่องนี้ “สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน” หรือ สตง. ได้จับตางบดูงาน โดยเฉพาะกรรมาธิการคณะต่างๆในอดีต และพบข้อมูลการใช้งบประมาณมหาศาลเช่นกัน

[caption id="attachment_172353" align="aligncenter" width="503"] พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง. พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง.[/caption]

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง. ระบุว่า สตง. เก็บตัวเลขงบประมาณดูงานของคณะกรรมาธิการถึงช่วงก่อนการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)คือเน้นช่วงรัฐบาลนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะว่าคนที่ไปอยู่ในกรรมาธิการไม่ได้มีแต่พรรครัฐบาล ยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะเจาะจงว่าจะตรวจนักการเมือง แต่เนื่องจากยุคนี้ถือว่าไม่มีนักการเมือง เพราะอยู่ในช่วงยุคปฏิรูปการเมือง เมื่อไม่มี ส.ว. ส.ส. ก็ไม่มีงบประมาณในส่วนนี้ที่จะเดินทางไปศึกษาดูงาน

“สิ่งเหล่านี้ ผมคิดว่าประชาชนควรจะได้รับทราบว่าปีๆหนึ่ง คนที่เราเลือกเขามาแล้วเขาใช้งบไปศึกษาดูงาน จะมีข้อน่ารังเกียจสำหรับการที่เราจะเอามาเป็นผู้ที่จะเอามาแก้ปัญหาบ้านเมือง เพราะว่าตัวเองยังไม่มีความรู้เลย ต้องไปหาความรู้ แล้วจะมาช่วยประชาชนได้อย่างไรดังนั้น ทาง สตง. ก็เลยมีการศึกษา เพื่อให้ไว้สำหรับเป็นหลักฐานสำหรับนักการเมืองรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาในสภา จะได้ไปศึกษาค้นคว้าถึงปัญหาของการใช้งบประมาณในการศึกษาดูงานที่ต่างประเทศ”

ผู้ว่าสตง. เปิดเผยว่า ข้อมูลสตง.ย้อนไปตั้งแต่ปี 2554-2557 นักการเมืองในสภา ในส่วนของ ส.ส.เดินทางไปต่างประเทศจำนวนมากก็พบสถิติช่วงปี 2554 ใช้งบ 143 ล้านบาท ปี 2555 ใช้ไป 176 ล้านบาทและปี2556 ใช้งบประมาณดูงานมากที่สุด คือ 193 ล้านบาทเศษ ถือว่าค่อนข้างเยอะและเพิ่มขึ้น แต่พอปี 2557 เกิดปัญหาการเมือง การใช้งบส่วนนี้ก็ลดน้อยจนกระทั่งปี 2558 เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเต็มรูปแบบปัญหาการเดินทางไปต่างประเทศก็เท่าที่มีการไปเยี่ยมเยือน สร้างสัมพันธ์ แต่การศึกษาดูงานก็ไม่มี

ไม่แพ้กันในส่วนของ ส.ว. ในยุคนั้น ปี2554 ใช้งบ 79 ล้าน ปี 2555 ใช้ไป 73ล้านบาท ปี 2556 ใช้ไป 106 ล้าน และปี 2557 ที่มีปัญหาความไม่สงบทางการเมืองเกิดขึ้นก็ทุเลาน้อยไป

TP14-3275-AC “ส่วนประเทศที่เป็นที่นิยมอันดับต้นๆคือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์พม่า และเกาหลีใต้”

ผู้ว่าการสตง. กล่าวอีกว่า ประเด็นที่เกิดขึ้นก็มีอยู่ว่า การดูงานก่อให้เกิดผลดีอะไรบ้าง จริงๆ แล้วการศึกษาดูงานจุดมุ่งหมายส่วนใหญ่ก็มักจะเขียนโครงการว่าเป็นการศึกษาหาความรู้ หาข้อมูลอะไรต่างๆเพื่อจะมาปรับปรุงพัฒนาตัวบทกฎหมายเหล่านี้ ถ้าหากจริงอย่างนั้นประเทศที่เราไปดู เขาก็มีเว็บไซต์ที่จะให้เราเข้าไปศึกษาดูตัวบทกฏหมายได้ แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะทำโครงการแล้วก็แอบแฝงไปในลักษณะท่องเที่ยว

เราจะสังเกตเห็นว่ามีประเทศยอดฮิตด้วยที่ไปกันแล้ว ค่าใช้จ่ายสูงเป็นพิเศษอย่างเช่นอเมริกา อันนี้ก็ชอบไปกันมากและไปไกล ค่าเครื่องบิน ค่าใช้จ่ายสูง รองลงมาญี่ปุ่นเป็นส่วนที่ไปกันมาก ไปกันบ่อย เรียกว่านักการเมืองเดินผ่านกันก็จะทักทายกัน เพราะกรรมาธิการมีหลาย 10 คณะ ส่วนใหญ่ก็ไปวนเวียนกันอยู่และประเทศที่น่าท่องเที่ยวอย่างสวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ ก็ไม่รู้ว่าเราเอากฎหมายอะไรมาใช้บ้างตั้งแต่ที่ไปดูงานกันมา ถ้าพูดถึงหลักประชาธิปไตย คิดว่าคงไม่ใช่ไปดูงานเฉพาะประเทศเหล่านี้

“ซึ่งปัญหาเหล่านี้ผมดูว่าถึงเวลาของการปฏิรูปแล้ว นักการเมืองจากนี้ไปควรจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติการณ์ในเรื่องการไปศึกษาดูงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราเห็นนิมิตรหมายอันดีอย่างหนึ่ง ที่ล่าสุดทางกรรมาธิการของสปท. ได้มีการประกาศว่าจะตัด ลด งบประมาณและไม่ใช้งบประมาณในการที่จะไปศึกษาดูงาน อันนี้ผมว่านักการเมืองในอนาคตควรศึกษาเป็นแบบอย่าง เพราะคนที่จะมาเป็นนักการเมือง มาอาสาประชาชน มาแก้ปัญหาประเทศชาติบ้านเมือง ควรจะต้องมีความรู้ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ และศึกษามาอย่างเพียบพร้อม ไม่ใช่พอมาเป็นสมาชิก หรือ ส.ส. แล้วก็มาใช้งบประมาณแผ่นดินในการศึกษาดูงานอีก นั่นแสดงว่ามาโดยไม่มีความรู้ แล้วก็มาใช้งบประมาณไปหาเพิ่มเติมความรู้”

นายพิศิษฐ์ เสนอแนะว่า ถ้าเราดูในรายละเอียดลักษณะว่าการไปดูงานแต่ละที่ต้องมีการกำหนดหลักการ วัตถุประสงค์ว่าไปเพื่อการใด ส่วนใหญ่แล้วในสภาก็จะเน้นเรื่องกฎกมายเป็นสำคัญ ซึ่งกฎหมาย ความจริงถ้าพูดถึงว่าเราจะไปแสวงหาความรู้กฏหมาย โดยการไปศึกษาดูงานต่างประเทศเสียหมดทุกเรื่อง แม้แต่คนที่จะเป็นครูบาอาจารย์สอนกฏหมายก็ยังไม่ได้ไปถึงขนาดนั้น เพราะฉะนั้นถ้าเราจะเอาความรู้มาสอนหนังสือก็ว่าไปอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าเอาความรู้มาใช้เพื่อประโยชน์ในการกฎหมายหรือเสนอกฎหมาย ความจริงก่อนที่จะเป็นนักการเมืองควรศึกษาให้พร้อมซะก่อน ไปศึกษามาก่อนเลยว่าเราจะเสนอกฏหมายอะไร ประเทศอะไร

ปัจจุบันก็มีผู้หลักผู้ใหญ่ชี้แนะว่าทั่วโลกเป็นหนึ่งเดียว ฉะนั้นเราสามารถเปิดดูได้จากอินเตอร์เน็ต จากกูเกิ้ลเพื่อจะค้นหาความรู้ได้ไม่ยากเลย โดยแค่เสียค่าไฟไม่กี่บาทและก็ได้ความรู้ไม่แตกต่างกับอะไรที่ไปดู และก็ได้บทสรุปกลับมาว่าหน่วยงานที่เราไปดูนั้นมีอำนาจหน้าที่กฎหมายอะไรแค่นั้นเอง เว้นเสียแต่เราจะไปดูในลักษณะที่ว่าการแก้ปัญหาเฉพาะแต่ละอย่าง ว่ามันแก้กันอย่างไร หรือในเชิงเป็นเรื่องเทคโนโลยี เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ วิทยาการ หรือเป็นเรื่องวิชาชีพ ถ้าเป็นเรื่องลำพังโดยแค่เพียงกฏหมาย เรื่องตัวบทกฏหมายก็อาจจจะลงทุนมากเกินไป

“กรรมาธิการสปท. มีดำริว่าจะมีการตัด ลดงบประมาณ หรือไม่ใช่งบประมาณในส่วนที่ไปดูงาน ถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดี เป็นแบบอย่างให้นักการเมืองที่จะมาเป็นสภาผู้แทนราษฏรหรือวุฒิสภาในอนาคต ถ้าหากว่ายังไม่มีความรู้ ความสามารถก็อย่ามาเป็นนักการเมือง ต้องไปเรียนให้จบ ต้องไปหาความรู้ให้แน่นแล้วค่อยมาเป็นนักการเมือง”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,275 วันที่ 2 - 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2560