สนช. จัดสัมมนา“ร่างกฎหมาย ป.ป.ช.: 5 ก.ค.

30 มิ.ย. 2560 | 07:38 น.
กมธ.การเมือง สนช. เตรียมจัดโครงการสัมมนา เรื่อง “ร่างกฎหมาย ป.ป.ช.:ก้าวใหม่แห่งการปฏิรูปการปราบปรามการทุจริต”ในวันที่ 5 ก.ค.นี้ เดินหน้ารับฟังความเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพิ่มประสิทธิภาพการปราบปรามการทุจริต และยกระดับความโปร่งใสของประเทศ

[caption id="attachment_172071" align="aligncenter" width="354"] นายกล้านรงค์ จันทิก ประธานคณะกรรมาธิการการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นายกล้านรงค์ จันทิก ประธานคณะกรรมาธิการการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)[/caption]

นายกล้านรงค์ จันทิก ประธานคณะกรรมาธิการการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงข่าวถึงการจัดโครงการสัมมนา เรื่อง “ร่างกฎหมาย ป.ป.ช.:ก้าวใหม่แห่งการปฏิรูปการปราบปรามการทุจริต” ว่า กมธ.จัดโครงการสัมมนาเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ....ในวันพุธที่ 5 กรกฎาคม นี้ ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ หมายเลข 306-308 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2
สำหรับผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย ผู้แทนจากสมาชิก สนช. คณะกรรมาธิการวิสามัญ สนช. สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) องค์กรอิสระ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักการเมือง นักวิชาการ องค์กรภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน พร้อมทั้งมีการอภิปรายเกี่ยวกับร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. ที่เป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งกันและกันระหว่าง กมธ.การเมือง กับตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ พลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ศ.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรธ. นายวินัย ดำรงมงคลกุล รองอัยการสูงสุด

นายกล้านรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ ขั้นตอนการเสนอร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. อยู่ระหว่างการจัดทำของ ป.ป.ช. โดยมีทั้งหมด 130 มาตรา ซึ่งมีการบัญญัติเพิ่มสาระสำคัญ อาทิ การกำหนดให้มีการไต่สวนสาธารณะ การกันบุคคลไว้เป็นพยาน การแจ้งเบาะแส การกำหนดวิธีการป้องกันการขัดกันของผลประโยชน์ การจัดตั้งกองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริต การให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในการเรียกสืบสวนโดยวิธีพิเศษ รวมทั้งการกำหนดให้คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ จะนำความเห็นและข้อเสนอที่ได้ ไปประกอบการพิจารณา เมื่อร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปราบปรามการทุจริต และยกระดับความโปร่งใสของประเทศต่อไป