“อลงกรณ์” แจงปมค้านยุทธศาสตร์ชาติ แนะดูตัวอย่างเพื่อนบ้าน

28 มิ.ย. 2560 | 09:59 น.
"อลงกรณ์” แจงปมค้านยุทธศาสตร์ชาติ แนะดูตัวอย่างยุทธศาตร์ชาติ 30 ปีของมาเลเซีย ชี้โลกเปลี่ยนแปลงเร็วจะบริหารประเทศโดยไร้ทิศทางไม่ได้

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คนที่หนึ่ง กล่าววันนี้ (28 มิถุนายน 2560) ว่า ตนเข้าใจและเห็นใจนักการเมืองและนักวิชาการบางส่วนที่แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยหรือเห็นด้วยแต่กังวลจะปฏิบัติยากในเรื่องพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติเพราะยังติดกรอบความคิดและการบริหารแบบเดิมๆ แต่ถ้าเราไม่ปฏิรูปการบริหารจัดการประเทศด้วยแนวทางใหม่ๆโดยไม่เปลี่ยนแปลงบ้างแล้วจะปฏิรูปเดินหน้ายกระดับอัพเกรดประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างไร วันนี้โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจึงต้องบริหารประเทศอย่างมีทิศทางและเป้าหมายภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติจะพัฒนาประเทศแบบสะเปะสะปะไร้ทิศทางไร้เป้าหมายอีกต่อไปไม่ได้แล้ว

พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ในอดีตประเทศไทยมียุทธศาสตร์การพัฒนาสั้นมาก คือ มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี มีนโยบายของรัฐบาล 4 ปีเท่านั้นยังไม่มียุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาประเทศระยะยาวจึงทำให้การพัฒนาประเทศต่ำกว่าศักยภาพแถมเวลาเปลี่ยนรัฐบาลทีก็เปลี่ยนนโยบายทีทำให้การพัฒนาประเทศขาดความต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาที่ต้องใช้เวลาเช่นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การเกษตรและ การศึกษาเป็นต้น ด้วยจุดอ่อนดังกล่าว สปช. สปท. และรัฐบาลจึงได้เริ่มวางแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2558 โดยรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และจัดทำพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติผ่านวาระ 3 ของ สนช. เมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา ถือเป็นการวางรากฐานให้กับอนาคตของประเทศที่สำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์นอกจากนี้ประเทศต่างๆก็มียุทธศาสตร์ชาติ 1 ปีถึง30ปี เช่นมาเลเซียมียุทธศาสตร์ 30 ปีวางเป้าเป็นประเทศพัฒนาแล้วเริ่มตั้งแต่ปีพ.ศ.2533ผ่านมา27ปีส่งผลให้รายได้ต่อหัวของประชากรสูงกว่าไทยเกินเท่าตัวและจะบรรลุเป้าหมายเป็นประเทศรายได้สูงในอีก3ปีข้างหน้าขณะที่ประเทศไทยยังติดกับประเทศรายได้ปานกลางมา20ปีจึงอยากให้พรรคการเมืองบ้านเราดูตัวอย่างจากมาเลเซียว่าทำไมเข้าทำได้และมียุทธศาสตร์ชาติตั้งแต่27ปีที่แล้ว

ส่วนข้อกังวลเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติบัญญัติให้ต้องรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนอย่างกว้างขวางในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติอยู่แล้ว

ส่วนประเด็นที่กังวลว่า ยุทธศาสตร์ชาติจะมัดมือรัฐบาลจนบริหารหรือกำหนดนโยบายไม่ได้นั้น นายอลงกรณ์ บอกว่า เป็นความเข้าใจผิด เพราะยุทธศาสตร์ชาติจะกำหนดเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาประเทศระยะยาว ตัวอย่างที่เคยกำหนดในร่างกรอบยุทธศาสตร์ช่วงจัดทำเมื่ปีที่แล้วเช่นกำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายใน 20 ปีมีรายได้ต่อหัวของประชากร 450,000บาทต่อปี หรือเพิ่มขึ้น3 เท่าจากปัจจุบันจึงต้องปฏิรูปยกเครื่องทุกมิติ หรือต้องมีพื้นที่ป่าไม้ไม่น้อยกว่า 40%ของพื้นที่ประเทศและให้มีพื้นที่ชลประทานไม่น้อยกว่า 75%ของพื้นที่เกษตร 150 ล้านไร่จากปัจจุบันมีเพียง 30% เป็นต้น

รัฐบาลแต่ละชุดมีอิสระที่จะกำหนดนโยบายโครงการและจัดสรรงบประมาณเป็นเครื่องมือในการบริหารประเทศให้บรรลุเป้าหมายภายใน20ปีหรือเร็วกว่านั้น ยุทธศาสตร์จึงไม่ใช่การมัดมือมัดเท้ารัฐบาลจนทำอะไรไม่ได้อย่างที่กังวลตรงข้ามจะทำให้ประเทศเดินหน้าอย่างมีทิศทางเหมือนรถวิ่งบนทางหลวงมีจุดหมายปลายทางแน่นอนไม่สะเปะสะปะหรือเลี้ยวลงซอยซ้ายที่ขวาทีไปไม่ถึงจุดหมายสักทีหรือขาดความต่อเนื่องวิ่งไปหยุดไปเวลาเปลี่ยนคนขับคือเปลี่ยนรัฐบาลนับเป็นจุดอ่อนของการพัฒนาประเทศในอดีต ถ้าจะให้ประเทศแข่งขันได้ต้องมียุทธศาสตร์ชาติที่มีกฎหมายรองรับ

ส่วนที่ติติงว่าโลกเปลี่ยนเร็วจะกำหนดยุทธศาสตร์ล่วงหน้า20ปีได้อย่างไรนั้น นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีได้ถูกออกแบบให้มีความยืดหยุ่น ทบทวนทุก 5 ปี และกรณีสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญก็สามารถปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ได้ทันทีโดยรัฐบาลเสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ ซึ่งในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติจะต้องวิเคราะห์และคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกในทุกด้านในระยะ5 ปี 10 ปีถึง 20 ปี เช่น เทคโนโลยี ภาวะโลกร้อน สังคมสูงวัย พลังงาน การเมือง การค้าการลงทุน กติการะหว่างประเทศ ภัยก่อการร้าย เป็นต้นแล้วสร้างแบบจำลองสถานการณ์จากนั้นจึงกำหนดเป้าหมายและแนวทางของยุทธศาสตร์ชาติซึ่งเมื่อพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ประกาศใช้ภายในไม่เกินต้นเดือนสิงหาคมกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติฉบับแรกของประเทศก็จะเริ่มต้นด้วยความร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วน