กทม.ยอมรื้อทีโออาร์ ส่อล็อกสเปกป้ายอัจฉริยะ

29 มิ.ย. 2560 | 06:45 น.
กทม.ยอมทบทวน “ทีโออาร์” โครงการป้าย จราจรอัจฉริยะ หลัง “ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบพบส่อล็อกสเปกใช้เทคโนโลยีตกรุ่น

นายสมชาย ตกสิยานันท์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบจราจร ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ทำหนังสือชี้แจง “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงกรณีการนำเสนอข่าวร่างขอบเขตของงาน หรือ ทีโออาร์ โครงการให้สิทธิเอกชนดำเนินการป้ายอัจฉริยะ 50 ป้าย พร้อมการดูแลบำรุงรักษา ที่หมดสัญญากับเอกชนรายเก่า และอยู่ระหว่างการหาเอกชนรายใหม่เข้ามาดำเนินการต่อ

หนังสือชี้แจงของผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบจราจร ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง ระบุว่า ตามที่สปริงนิวส์และหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจเสนอแนะวิจารณ์ทีโออาร์โครงการดังกล่าว เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 เรื่องคุณสมบัติของผู้ประสงค์จะเสนอราคา ข้อที่ 5.1.5 ส่อล็อกสเปก และคุณลักษณะเฉพาะของอุปกรณ์ ตามข้อ 7 ล้าสมัย ซึ่งอาจเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้เสนอราคารายใดรายหนึ่งนั้น

2(90) สำนักการจราจรและขนส่งพิจารณาแล้วจะดำเนินการทบทวนเนื้อหารายละเอียดของร่างทีโออาร์ใหม่ทั้งหมด ให้สมบูรณ์ครบถ้วน เพื่อประโยชน์สูงสุดของกรุงเทพมหานคร และจะนำลงประกาศในเว็บไซต์ของกรุงเทพมหานครและเว็บไซต์ของสำนักการจราจรและขนส่งต่อไป

ก่อนหน้านี้ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้ตรวจสอบร่างทีโออาร์เปิดประมูลป้ายจราจรอัจฉริยะ ที่กทม.ได้ประกาศเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา ส่อว่ามีการล็อกสเปกในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการกำหนดคุณสมบัติของบริษัทที่จะเข้าร่วมประมูลที่ระบุว่า ต้องเป็นนิติบุคคล หรือกลุ่มนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทยที่มีประสบการณ์ มีผลงานทางด้านงานติดตั้งป้ายปรับเปลี่ยนข้อความ หรืองาน ติดตั้งป้ายรายงานสภาพจราจรและงานศูนย์ควบคุมระบบป้ายในสัญญาเดียวกัน วงเงินไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท และเป็นผลงานที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับกทม. ส่วนราชการ หน่วยงานตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานเอกชนที่กทม.เชื่อถือ ซึ่งปัจจุบันมีเอกชนไม่เกิน 5 รายที่มีคุณสมบัติตามร่างทีโออาร์ที่กทม.กำหนด

tp16-3274-a นอกจากนี้ในร่างทีโออาร์ยังกำหนดคุณสมบัติระบบและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ล้าสมัยในหลายเรื่อง เช่น การจัดหาและติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ลูกข่าย จำนวนไม่น้อยกว่า 8 ชุด ที่ระบุว่าเอกชนผู้ชนะการประมูลต้องจัดหาและติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ลูกข่าย หน่วยประมวลผลกลางความเร็วไม่ตํ่ากว่า อินเทลเพนเทียม ดี 2.8 กิกะเฮิรตซ์ FSB 800 ซึ่งเป็นรุ่นที่ล้าสมัย จำหน่ายในช่วงปี 2548 หรือ 12 ปีที่แล้ว

นอกจากนี้ยังกำหนดให้มี Internal Floppy Disk Drive ขนาด 1.44 เมกะไบต์ ซึ่งปัจจุบันไม่มีการจำหน่ายและใช้งาน Floppy Disk แล้ว

เช่นเดียวกับการจัดหาและติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด แบบ CCD จำนวนไม่น้อยกว่า 10 ชุด ก็เป็นเทคโนโลยีที่ล้าสมัยเช่นกัน เพราะกล้องโทรทัศน์วงจรปิดปัจจุบันมีทั้งแบบ CCD และ CMOS ซึ่งการใช้งานและประสิทธิภาพเทียบเท่ากัน แต่นิยมใช้ CMOS มากกว่า

กทมทีโออาร์ สำหรับโครงการป้ายจราจรอัจฉริยะของกทม.เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2548 โดยมีบริษัท จีเนียส ทราฟฟิค ซิสเต็ม จำกัด ได้รับสิทธิ เป็นผู้ลงทุนก่อสร้างและบริหารจัดการดูแลรักษาป้ายจำนวน 40 จุดทั่วพื้นที่ กทม.และสัญญาได้สิ้นสุดสิ้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา จึงทำให้ กทม.จัดทำทีโออาร์เพื่อเปิดประมูลใหม่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,274
วันที่ 29 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2560