กระทรวงแรงงาน ย้ำ ! พ.ร.ก.ใหม่ ลดปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน

27 มิ.ย. 2560 | 23:46 น.
กระทรวงแรงงาน ย้ำ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีผลดีต่อนายจ้างและแรงงานต่างด้าว นายจ้างจะได้คนต่างด้าวมาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีคุณภาพตามความต้องการ สามารถตรวจสอบคนต่างด้าวได้หากประสบปัญหา เป็นไปตามมาตรฐานสากล ป้องกันการหลอกลวงจากระบบสายนายหน้าเถื่อน และเสียค่าใช้จ่ายอย่างไม่เป็นธรรม ส่วนลูกจ้างคนต่างด้าวจะได้รับความคุ้มครอง มีช่องทางการร้องทุกข์เข้าถึงสิทธิได้โดยตรง และยังเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 เป็นการรวมกฎหมาย 2 ฉบับไว้เป็นฉบับเดียวคือ พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 และพระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.2559 ซึ่งสืบเนื่องมาจากกฎหมายทั้ง 2 ฉบับยังไม่ครอบคลุมการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ กล่าวคือยังมีการกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของนายจ้างและผู้ได้รับใบอนุญาตนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศไทยไม่ชัดเจนและไม่ครอบคลุมความเสียหายที่เกิดจากการไม่ปฏิบัติหน้าที่และความรับผิดชอบดังกล่าว ขาดกลไกการร้องทุกข์   ให้แก่คนต่างด้าวและผู้เกี่ยวข้องที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ขาดมาตรการทางปกครองเพื่อกำหนดโทษทางปกครองแก่นายจ้างที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชกำหนดนี้ ไม่มีบทบัญญัติรองรับการขึ้นทะเบียนตัวแทนนายจ้างและตัวแทนคนต่างด้าว  เพื่อควบคุมผู้ประกอบอาชีพในการดำเนินการยื่นคำขอและเอกสารแทนนายจ้างและคนต่างด้าว ไม่มีบทกำหนดโทษสำหรับบุคคลที่ยึดใบอนุญาตทำงานหรือเอกสารสำคัญประจำตัวของคนต่างด้าวไว้ ทั้งยัง ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันและมีอัตราโทษที่ต่ำกว่าบทกำหนดโทษในกฎหมายอื่นซึ่งมีความผิดในลักษณะเดียวกัน จึงจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อเติมช่องว่างของกฎหมายที่มีอยู่เดิมให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศและแก้ไขปัญหาการจัดระเบียบการทำงานของคนต่างด้าวในประเทศไทยที่อาจนำไปสู่การกระทำอันเป็นการค้ามนุษย์ได้ ทั้งยังอาจสุ่มเสี่ยงต่อการปฏิบัติผิดมาตรฐานสากล ซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง

[caption id="attachment_170609" align="aligncenter" width="503"] นายวรานนท์ ปีติวรรณ นายวรานนท์ ปีติวรรณ[/caption]

ด้านนายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า พระราชกำหนดฉบับนี้มีผลดีทั้งต่อนายจ้าง ลูกจ้างต่างด้าว ภาครัฐ และภาคประชาสังคม โดยภาครัฐจะสามารถจัดระเบียบและให้ความคุ้มครองแก่แรงงานต่างด้าวให้มีความเหมาะสม เป็นไปตามมาตรฐานสากล สามารถควบคุมการประกอบธุรกิจการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศและควบคุมการทำงานของคนต่างด้าวเพื่อจัดระเบียบป้องกันไม่ให้มีการลักลอบนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานได้ ขณะที่นายจ้าง/สถานประกอบการก็ได้คนต่างด้าวมาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีคุณภาพตามความต้องการ สามารถตรวจสอบคนต่างด้าวได้หากประสบปัญหา และเป็นไปตามมาตรฐานสากล ป้องกันการหลอกลวงจากระบบสายนายหน้าเถื่อน และเสียค่าใช้จ่ายอย่างไม่เป็นธรรม สามารถเข้าถึงระบบข้อมูลภาครัฐเพื่อจะได้จำนวนแรงงานตามความต้องการและมีการควบคุมประเภทงาน นายจ้าง ณ ท้องที่และเงื่อนไขตามที่ได้รับอนุญาตเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงาน แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ขณะเดียวกันลูกจ้างคนต่างด้าวและบุคคลที่เกี่ยวข้องที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของนายจ้างอย่างไม่เป็นธรรมก็จะได้รับความคุ้มครอง

นอกจากนี้ยังมีกลไกการร้องทุกข์และการเข้าถึงช่องทางการร้องทุกข์สำหรับคนต่างด้าวและผู้เกี่ยวข้องซึ่งได้รับความเสียหายจากการที่นายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานไม่ปฏิบัติตามหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมาย รวมทั้งมีการกำหนดช่องทางให้คนต่างด้าวสามารถเข้าถึงสิทธิได้โดยตรงและได้รับประโยชน์จากการได้รับสวัสดิการ  การประกันสังคม การประกันสุขภาพ การศึกษา และสังคม เพื่อสามารถทำงานอยู่ในประเทศไทยได้อย่างปกติสุข ส่วนภาคประชาสังคมจะได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลแรงงานต่างด้าวให้เป็นไปตามกฎหมายและหลักมาตรฐานสากล มีกลไกให้หน่วยงานภาคเอกชน และ NGO ในพื้นที่เข้ามาร่วมดำเนินการและมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ซึ่งหากมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและทั่วถึงจะแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและการทำประมงผิดกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิผลและจะทำให้การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบที่ถูกต้องและได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ