ไฟเขียวงบ 1.84 พันล้านบาทประกันภัยนาข้าวปี 60

27 มิ.ย. 2560 | 10:32 น.
ครม.อนุมัติงบ 1.84 พันล้านบาท ประกันภัยนาข้าวปีการผลิต 2560 ตั้งเป้า 30 ไร่ วงเงินคุ้มครองเพิ่มเป็น 1,260 บาทต่อไร่ สำหรับ 6 ภัยธรรมชาติ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (27 มิถุนายน) มีมติอนุมัติงบประมาณ จำนวน 1,841.1 ล้านบาท สำหรับโครงการประกันภัยข้าวนาปี ประจำปีการผลิต 2560 ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว โดยมีเป้าหมายขั้นต่ำ 25 ล้านไร่ สูงสุด 30 ล้านไร่  ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เมื่อปี 2559 มีพื้นที่เป้าหมาย 30 ล้านไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วมการคุ้มครองจำนวน 1,570,000 ราย รวม 27.2 ล้านไร่ที่ได้รับการคุ้มครอง

kobsak

สำหรับปีนี้จะมีวงเงินคุ้มครองเพิ่มขึ้นจากเดิมอยู่ที่ 1,111 บาทต่อไร่ เป็น 1,260 บาทต่อไร่ สำหรับ 6 ภัยธรรมชาติ ประกอบด้วย น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ และไฟไหม้ ส่วนภัยจากศัตรูพืชหรือโรคระบาด  ปีที่แล้วให้ความคุ้มครองที่ 555 บาทต่อไร่ ปีนี้ได้ความคุ้มครอง 630 บาทต่อไร่ ทั้งนี้ เนื่องจากตามระเบียบราชการพบว่า เมื่อเกิดปัญหาศัตรูพืชหรือโรคระบาดจะเกิดความเสียหายประมาณครึ่งหนึ่ง ดังนั้น จึงทดแทนให้ตามที่เกิดขึ้นจริง

“ขณะที่อัตราเบี้ยประกันภัยนั้น ปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 108 บาทต่อไร่ (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์) สำหรับปีนี้อัตราเบี้ยประกันลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 97 บาทต่อไร่ (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์) “ปีนี้สามารถต่อรองกับบริษัทประกันภัยยอมให้ค่าเบี้ยประกันลดลงประมาณ 10 % ขณะที่วงเงินที่ได้รับการดูแลก็เพิ่มขึ้นประมาณ 10% เช่นเดียวกัน ซึ่งถูกลงประมาณ 20 % เมื่อเทียบกับต้นทุนที่จ่ายในเบี้ยประกันที่ทำกันในขณะนี้” นายกอบศักดิ์  กล่าวและว่า

สำหรับปีนี้รัฐบาลจะอุดหนุนช่วยจ่ายให้ 61.37 บาทต่อไร่ และเกษตรกรที่เป็นลูกค้าของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ธ.ก.ส.จะจ่ายให้ 36 บาทต่อไร่ ขณะที่ในส่วนของเกษตรกรที่ไม่ได้เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส.นั้น สามารถที่จะขอซื้อประกันภัยดังกล่าวได้โดยจะได้รับเงินชดเชย 61.37 บาทต่อไร่ โดยส่วนที่เหลือต้องจ่ายเอง โดยสามารถเริ่มซื้อประกันได้ตั้งแต่เริ่มฤดูกาลเพาะปลูก ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2560 ยกเว้นภาคใต้ ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2560

นอกจากนี้ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จะแต่งตั้งคณะกรรมการในการตรวจสอบเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายแต่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติฉุกเฉิน เพื่อดูแลให้ได้รับสินไหมเช่นเดียวกันได้ ทั้งนี้ เมื่อดำเนินโครงการไป 2 ปีแล้ว ในปีถัดไปเมื่อเกษตรกรพร้อมเกษตรกรอาจจะต้องเข้ามารับภาระซื้อประกันบางส่วนเองให้มากขึ้น ขณะเดียวกันทางกระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตรฯกำลังศึกษาขยายผลให้ครอบคลุมพืชประเภทอื่นๆ อาทิ ข้าวนาปรัง เป็นต้น เพื่อประกันความเสี่ยงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมในอนาคตได้ รวมถึงเตรียมจัดทำดัชนีผลผลิตเชิงพื้นที่เพื่อนำมาใช้ในกระบวนการพิจารณาเรื่องนี้ด้วย