เจาะลึกช่องทาง-กติกาใหม่ รับมือโฆษณาวิดีโอยุคโมบาย

28 มิ.ย. 2560 | 23:29 น.
tp7-3274-d สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องจำขึ้นใจเกี่ยวกับโฆษณาวิดีโอในยุคของมือถือ คือสมาร์ทโฟนไม่ใช่โทรทัศน์ย่อส่วน เหมือนกับที่โทรทัศน์ไม่ได้เป็นวิทยุที่แสดงภาพได้ และวิทยุไม่ได้เป็นหนังสือพิมพ์ที่เปล่งเสียง

มือถือต้องถูกพิจารณาจากสิ่งที่เป็น ซึ่งก็คือช่องทางใหม่ที่ต้องการคอนเทนต์ที่ตอบสนองต่อประสบการณ์การใช้งานที่สอดคล้องกับแพลตฟอร์มนี้ ไม่ว่าจะเป็นความเร็ว ตัวเลือก หรือแม้กระทั่งความเกี่ยวข้อง

ยุคทองของโฆษณาโทรทัศน์เคยรุ่งเรืองมาก เมื่อบรรดาปรมาจารย์ด้านครีเอทีฟได้ยกระดับการสื่อสารผ่านช่องทางใหม่ในยุคนั้น ประกอบกับการที่ทุกๆ ครัวเรือนเป็นเจ้าของโทรทัศน์เป็นครั้งแรก

ปัจจุบัน โทรทัศน์ยังคงเป็นสื่อที่ทรงอิทธิพล และเป็นแหล่งรวมผลงานสร้างสรรค์ที่ยอดเยี่ยมมากมาย แต่สื่อโทรทัศน์ก็ต้องขับเคี่ยวกับมือถือโดยตรง เพราะมือถือเข้าถึงมากกว่าหนึ่งคนต่อครัวเรือน โดยทุกคนมีมือถือเป็นของตนเอง และพกติดตัวอยู่ตลอดเวลา

สำหรับการใช้สมาร์ทโฟน ผู้คนสามารถเลือกควบคุมเนื้อหา สถานที่และช่วงเวลาที่ต้องการรับชมสิ่งต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ มือถือได้เปลี่ยนแปลงวิธีที่ผู้คนค้นหาข้อมูลและสิ่งใหม่ๆ เชื่อมต่อกับแบรนด์ รวมถึงซื้อสินค้าด้วย โดยเฉพาะในประเทศโมบายเฟิร์สอย่างประเทศไทยที่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์ผ่านทางสมาร์ทโฟน ด้วยจำนวนผู้ใช้ Facebook ชาวไทยกว่า 44 ล้านคน ที่ใช้งานเป็นประจำทุกเดือนบนมือถือ คงไม่ใช่เรื่องแปลก หากผู้บริโภคจะหยิบมือถือของพวกเขามาเลื่อนดูฟีดข่าว เมื่อใดที่โทรทัศน์ไม่สามารถดึงดูดความสนใจของพวกเขาได้อีกต่อไป

เราได้ศึกษาพฤติกรรมการใช้ Facebook ของผู้ใช้ 537 ราย ที่ระบุว่าพวกเขารับชมรายการโทรทัศน์ยอดนิยมในซีซั่นแรก โดยพบว่าระหว่างทุกช่วงพักโฆษณามีการใช้งาน Facebook ที่เพิ่มขึ้น

เรายังศึกษาพฤติกรรมการใช้ Facebook ของผู้ที่ตอบแบบสำรวจว่าพวกเขาไม่ได้รับชมรายการโทรทัศน์ดังกล่าว ผลปรากฏว่าไม่เห็นความแตกต่างที่ชัดเจนจากการใช้งานในช่วงพักโฆษณา

มือถือได้เปลี่ยนพฤติกรรมผู้คน ให้มีความสนใจ เลือกในสิ่งที่ตรงกับความต้องการ บริโภคในสิ่งที่สำคัญต่อเขา และติดตามสิ่งอื่นๆ ต่อไป

ผู้คนเลื่อนฟีดข่าวบนมือถือเร็วกว่าบนเดสก์ท็อปถึง 41 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อเลื่อนผ่านวิดีโอที่เริ่มเล่นอัตโนมัติบน Facebook (ซึ่งจะเกิดขึ้นประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับการตั้งค่าของผู้ใช้ สัญญาณอินเตอร์เน็ต และพฤติกรรมการใช้งาน) ผู้คนรับชมวิดีโอประเภทนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 16.7 วินาที ซึ่งก็คล้ายกันกับการรับชมโฆษณาวิดีโอ ที่ผู้คนรับชมบนฟีดข่าวโดยเฉลี่ย 5.7 วินาที

เนื่องจากผู้คนสามารถเลือกรับชมสิ่งที่ต้องการได้ตลอดเวลา พวกเขาจะดูเฉพาะโฆษณาที่สามารถกระตุกความสนใจ คุ้มค่าเวลา และเชื่อมโยงกับสิ่งที่สนใจอยู่ขณะนั้น ดังนั้น แม้ว่ายอดการรับชมโฆษณาโดยรวมจะสูงขึ้น แต่เวลาการรับชมของผู้ใช้แต่ละรายกลับลดลง ผู้คนไม่ได้ดูโฆษณาเป็นเวลานานเหมือนที่เคยอีกต่อไป ไม่ว่าผ่านช่องทางใดก็ตาม
แม้ว่าจะมีการทุ่มเทความพยายามอย่างไม่สิ้นสุด และความเชี่ยวชาญอย่างล้ำลึก ก็ไม่มีแพลตฟอร์มมือถือใดที่รับรองว่าสามารถดึงคนให้ดูโฆษณาธรรมดาๆ ความยาว 30 วินาทีที่เคยฉายในโทรทัศน์ได้ โฆษณาโทรทัศน์ที่ออกแบบเสมือนว่าผู้ชมไม่สามารถหนีไปไหนได้ ต้องลำบากในการดึงดูดความสนใจบนมือถือ และผู้คนก็ไม่ได้รับชมจนจบ เมื่อเร็วๆ นี้ YouTube เพิ่งเลิกใช้โฆษณาความยาว 30 วินาทีที่กดข้ามไม่ได้

ผู้บริโภคได้บอกความต้องการของพวกเขา แต่เรากำลังรับฟังอยู่หรือไม่? มือถือกำลังแสดงให้เห็นว่าเราไม่มีสิทธิ์ขัดขวางสิ่งที่ผู้คนสนใจอีกต่อไป แต่กลับมีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องความสนใจได้ หากนักการตลาดที่มีงบประมาณที่ตายตัว ต้องการเชื่อมต่อกับกลุ่มเป้าหมายและสร้างการเติบโตให้แก่แบรนด์ พวกเขาจำเป็นที่จะต้องก้าวให้ทันรูปแบบการสื่อสารใหม่ที่ซับซ้อน และปรับใช้คอนเทนต์บนมือถือให้เกิดผลกระทบสูงสุด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,274
วันที่ 29 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2560