เตือนหญิงไทยควรเตรียมพร้อมก่อนไปใช้ชีวิตในต่างแดน

26 มิ.ย. 2560 | 11:35 น.
รมว.พม. ย้ำเตือนหญิงไทยควรเตรียมความพร้อมอย่างรอบด้าน ก่อนตัดสินใจไปใช้ชีวิตในต่างแดนหรือสมรสกับชาวต่างชาติ

พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยมีการเดินทางไปใช้ชีวิตในต่างประเทศอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้นทุกปี เพื่อเป้าหมายในชีวิตไม่ว่าจะเป็นเพื่อการศึกษา การทำงาน หรือแม้กระทั่งเพื่อแต่งงานและใช้ชีวิตคู่กับชาวต่างชาติของหญิงไทย เนื่องจากสังคมในกระแสโลกาภิวัฒน์ที่เปิดกว้างในการติดต่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งหญิงไทยบางคนประสบความสำเร็จ แต่บางคนประสบความล้มเหลวในชีวิต โดยมีปัญหาที่เกิดจากความหลากหลายและความแตกต่างทางด้านสังคม วัฒนธรรมประเพณี ภาษา และกฎหมาย เป็นต้น รวมทั้งการเตรียมความพร้อมอย่างรอบด้านก่อนเดินทางไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ

นอกจากนี้หญิงไทยบางคนยังประสบปัญหาถูกทำร้ายร่างกาย และถูกหลอกไปค้าประเวณี เป็นต้น ทั้งนี้ ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ เฝ้าระวัง เตือนภัย ให้ความรู้ และแก้ไขปัญหามาโดยตลอด เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยในต่างประเทศ

ซึ่งกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ที่มีภารกิจในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิกับผู้หญิงไทยทุกกลุ่ม โดยให้ความสำคัญกับการดูแลผู้หญิงที่อยู่ทั้งในและต่างประเทศโดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ตามนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการอบรมให้ความรู้และรับฟังการถ่ายทอดประสบการณ์จริงจากผู้ที่เคยไปใช้ชีวิตในต่างประเทศให้กลุ่มเป้าหมาย ได้เตรียมความพร้อมเพื่อ ปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่ได้ง่ายขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

3f26599ea1 อีกทั้งได้จัดทำเว็บไซต์หญิงไทย (www.yingthai.net) และแอพพลิเคชั่น “Yingthai” เพื่อเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่มีประโยชน์ รวมทั้งการติดต่อสอบถามและแจ้งขอรับความช่วยเหลือในการให้คำปรึกษาต่างๆ ตลอดจนเป็นแหล่งสืบค้นข้อมูลที่จำเป็นสำหรับผู้หญิงไทยและคนไทยทุกคนที่จะเดินทางไปใช้ชีวิตในต่างประเทศและอยู่ระหว่างการตัดสินใจเดินทางไปใช้ชีวิตในต่างประเทศอีกด้วย

“นอกจากนี้ พม. ยังได้พัฒนาศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 บริการ 24 ชั่วโมง ให้สามารถติดต่อได้ทั่วโลก ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้หญิงไทยที่พำนักในต่างประเทศ ได้มีการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกับเครือข่ายหญิงไทยในต่างประเทศอย่างเข้มแข็ง เช่น เครือข่ายหญิงไทยในยุโรป และเครือข่ายหญิงไทยในญี่ปุ่น เป็นต้น และการจดทะเบียนเป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ในต่างประเทศเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากภาครัฐ อีกทั้ง ขยายขอบเขตกองทุนสวัสดิการสังคมให้ครอบคลุมกลุ่มคนไทยในต่างประเทศ” พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวในตอนท้าย