ธนานุเคราะห์ชูธงโปร่งใสมีธรรมาภิบาลในการรับจำนำ

26 มิ.ย. 2560 | 08:29 น.
ปลัดพม. เปิดโครงการ “สร้างวัฒนธรรมต่อต้านการทุจริตและยกระดับธรรมาภิบาลในการบริหารงาน” ส่งเสริมบริการด้านการรับจำนำของสถานธนานุเคราะห์ให้โปร่งใสมีคุณธรรม

นายณรงค์ คงคำ โฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เปิดเผยว่า  เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา นายไมตรี  อินทุสุต  ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานเปิดโครงการ “สร้างวัฒนธรรมต่อต้านการทุจริตและยกระดับธรรมาภิบาลในการบริหารงาน” เพื่อพัฒนาสู่การเป็นองค์กรที่มีการบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล (Good Corporate Governance) ด้วยการบริหารงานที่มีคุณธรรมและความโปร่งใสในการทำงาน (Work Integrity And Transparency) อีกทั้งเป็นการสร้างเสริมความเชื่อมั่นต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน พร้อมทั้งบรรยายพิเศษเรื่อง “ธรรมาภิบาลในการบริการด้านการรับจำนำ” แก่คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานธนานุเคราะห์ ที่โรงแรมปริ๊นส์ พาเลซ มหานาค กรุงเทพมหานคร

 

นายไมตรีกล่าวว่า สำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) เป็นสถาบันรับจำนำของรัฐบาล ภายใต้การดูแลของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  ให้บริการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ประสบปัญหาเฉพาะหน้าด้านการเงิน การดำรงชีพ และการประกอบอาชีพ ส่งผลให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินของภาครัฐ ลดปัญหาการกู้เงินนอกระบบ ซึ่งเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ เพื่อการพัฒนาเป็นองค์กรที่มีการบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล (Good Corporate Governance) ประกอบด้วย 6 หลักการ ได้แก่ 1) หลักนิติธรรม 2) หลักคุณธรรม 3) หลักความโปร่งใส 4) หลักการมีส่วนร่วม 5) หลักความรับผิดชอบ และ 6) หลักความคุ้มค่า เพื่อสร้างเสริมความเชื่อมั่นต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน ซึ่งจะส่งผลดีต่อความเจริญก้าวหน้าของ สธค. และสามารถนำไปสู่ความยั่งยืนของเจ้าหน้าที่ องค์กร และประเทศชาติโดยรวม

สำหรับการบรรยายพิเศษเรื่อง “ธรรมาภิบาลในการบริการด้านการรับจำนำ” ได้มุ่งเน้นในประเด็นการบริหารรัฐกิจแนวใหม่ ซึ่งองค์กรจำเป็นต้องยึดหลักประชาธิปไตย โดยการให้ความสำคัญในเรื่องความสนใจของสาธารณชน กระบวนการบริหารหรือการปกครอง เจ้าหน้าที่ต้องมีการเรียนรู้ การเสริมสร้างทักษะในการพัฒนานโยบายและปฏิบัติตามนโยบาย มีการเคารพและยอมรับศักดิ์ศรีของการเป็นพลเมืองมากขึ้น และสิ่งสำคัญที่สุด เจ้าหน้าที่ต้องมีศีลธรรมและจริยธรรมในการทำงานตามหลักการบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล (Good Corporate Governance) ทั้งนี้ ธรรมาภิบาลจะยั่งยืนได้ จำเป็นต้องมีประชาธิปไตยที่ยั่งยืน โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ