กรมปศุสัตว์โชว์ผลสำเร็จ ปศุสัตว์แปลงใหญ่ สร้างความเข้มแข็งเกษตรกรไทย

26 มิ.ย. 2560 | 08:36 น.
กระุทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายในการจัดทำแปลงการเกษตรขนาดใหญ่ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยมีการรวมกลุ่มกัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการสินค้าเกษตรปศุสัตว์ได้มีคุณภาพอย่างครบวงจร กรมปศุสัตว์ร่วมดำเนินกิจกรรมปศุสัตว์แปลงใหญ่ กว่า 150 แปลง เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 11,648 ราย เพื่อให้เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรด้านปศุสัตว์ ให้สามารถลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ กลุ่มเกษตรกรมีเข้มแข็ง มีรายได้ที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่า ผลการดำเนินงานเกษตรปศุสัตว์แปลงใหญ่ ใน 54 จังหวัด จำนวน 150 แปลง ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แบบเบ็ดเสร็จ 136 แปลง(อยู่ในระหว่างการดำเนินงาน 14 แปลง) ไก่พื้นเมือง 12 แปลง โคนม 31 แปลง โคเนื้อ 59 แปลง กระบือ 19 แปลง แพะ 20 แปลง หญ้าอาหารสัตว์ 9 แปลง บนพื้นที่รวม 103,053.9 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 11,648 ราย จำนวนสัตว์ทั้งหมด 243,397 ตัว

DSCN3157 กรมปศุสัตว์ จัดโครงการปศุสัตว์แปลงใหญ่ (Big Farm) เพื่อขับเคลื่อนการรวมกลุ่มเกษตรกรเจ้าของแปลงเล็กให้กลายเป็นแปลงใหญ่ กำหนดแผนการและเป้าหมาย เพื่อให้สามารถบริหารจัดการให้เกิดความสมดุลระหว่างปริมาณผลผลิตและความต้องการสินค้าเกษตร ขยายขนาดการผลิต เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร และเพิ่มคุณภาพ  ทำให้สินค้าเกษตรมีคุณภาพมาตรฐาน ตรงความต้องการของตลาด และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรรายย่อย ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้ และคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีความเข้มแข็งในกระบวนการตัดสินใจ  อันจะเป็นการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงยกระดับศักยภาพการแข่งขันการผลิตภาคการเกษตรของประเทศไทยในระยะยาวต่อไป

จากปัญหาของเกษตรกรรายย่อยในภาคปศุสัตว์ของไทยต่างประสบกับปัญหาในการเลี้ยงและการจำหน่าย ตลอดจนโอกาสการเข้าถึงข้อมูลแหล่งทุน ทรัพยากรและการตลาด ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์รายย่อยต่างคนต่างผลิต จึงยากต่อการจัดการผลผลิตให้มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าว  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้มีนโยบายในเรื่องการจัดทำแปลงการเกษตรขนาดใหญ่ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยมีการรวมกลุ่มกัน พร้อมกับดำเนินการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้า โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการเกษตรที่ยึดพื้นที่และสินค้าเป็นหลัก (Area and Commodities Approaches) ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะบรรลุผลสำเร็จได้จำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการแต่งตั้งผู้จัดการแปลงที่ถือเป็นกลไกสำคัญในการบริหารจัดการทุกกิจกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ตั้งแต่การผลิต  การควบคุมคุณภาพการผลิต  การเก็บเกี่ยว  การบริหารจัดการ โลจิสติกส์  การวางแผนด้านการเงิน  และการตลาด  เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกษตรกรมีความรู้ ความสามารถในการจัดการผลิตสินค้าเกษตร จนถึงการตลาดที่มีมาตรฐานเช่นเดียวกับฟาร์มขนาดใหญ่ เกษตรกรผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดใกล้บ้าน