CNN แก้เผ็ด! ‘ทำเนียบขาว’  หลังถูกริดลอนเสรีภาพสื่อ

25 มิ.ย. 2560 | 12:16 น.
เชื่อว่าหลายคนต้องได้ยินคำนี้อยู่บ่อยครั้ง กับคำว่า "เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน"  โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สื่อกำลังถูกรัฐริดลอนเสรีภาพในการนำเสนอข่าว ในต่างประเทศก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน สื่อยักษ์ใหญ่อย่าง CNN ก็กำลังทะเลาะกับรัฐบาลสหรัฐฯ เช่นกัน หลังมีประเด็นเรื่องที่ทำเนียบขาวสั่งห้ามสื่อบางสำนักใช้กล้องวิดีโอเพื่อแพร่ภาพถ่ายทอดสดการแถลงข่าวของทีมโฆษก 'ทำเนียบขาว'

คำสั่งของทำเนียบขาวดังกล่าว ทำให้สื่อหลายสำนักไม่พอใจเป็นอย่างมาก แน่นอนว่า CNN ก็คือหนึ่งในนั้นด้วย หลายสำนักมองว่า ทำไมอยู่ดีๆ รัฐ จะมาริดลอนเสรีภาพในการนำเสนอข่าวไปได้อย่างไร ในเมื่อนักข่าวคือตัวแทนของประชาชนที่มีสิทธิตรวจสอบรัฐบาล CNN มองว่า การที่รัฐออกกฏเหล็กสั่งห้ามแบบนี้ไม่ต่างอะไรกับปิดกั้นสิทธิการรับรู้ข่าวสารของประชาชน

จิม อาคอสต้า นักข่าว CNN ประจำทำเนียบขาว  ระบุว่า นโยบายดังกล่าวนั้น กำลังทำให้ ฌอน สไปเซอร์ โฆษกทำเนียบขาว  เข้าขั้นไร้ประโยชน์มากขึ้นเรื่อยๆ

“ถ้าเรามาถึงจุดที่ ฌอน สไปเซอร์ ไม่ต้องตอบคำถามหรือไม่ปรากฎตัวต่อหน้ากล้อง แล้วเราจะมีงานแถลงข่าวไปทำไม” จิม อาคอสต้า กล่าว

ด้วยเหตุที่รัฐ มีปัญหากับสำนักข่าว แน่นอนว่า แต่ละสำนักข่าวต้องมีไม้เด็นมาต่อกรกับภาครัฐ อย่างสำนักข่าว CNN ได้คิดวิธีแก้เผ็ดนโยบายที่ริดลอนเสรีภาพสื่อ ในเมื่อรับไม่ให้เอากล้องเข้าไปทำเนียบ? CNN นำนักวาดรูปมาทำงานแทนก็ได้ โดยส่ง Bill Hennessy นักวาดรูปประจำศาลสูงสุดของสหรัฐฯไปวาดรูปบรรยากาศการแถลงข่าว ซึ่งคุณ Hennessy คนนี้ถือว่าเป็นมือวาดรูปชั้นครูผู้มีประสบการณ์อันเชี่ยวชาญ เคยวาดรูปในการพิจารณาคดีสำคัญมาแล้ว อย่าง คดีถอดถอนอดีต ประธานาธิบดี บิล คลินตัน และคดีไต่สวนอดีตนักโทษจากคุกกวนตานาโมอันอื้อฉาวมาแล้ว

การนำมือวาดรูปจากศาลมาใช้ในการแถลงข่าวของสหรัฐนั้น ไม่เพียงแค่ส่งข้อความประชดประชัน หรือทักท้วงนโยบายของทำเนียบขาว แต่ภาพที่ออกมายังให้ความรู้สึกว่า โฆษกทำเนียบขาวกำลังถูกศาลและคณะลูกขุนศาลไต่สวนอยู่เหมือนกัน ซึ่งถือเป็นวิธีโต้กลับของสื่อสหรัฐที่ร้ายกาจมาก คงไม่ปฏิเสธที่จะใช้คำว่า "แรงมาก็แรงกลับ" นี้ได้

นอกจากนี้นักข่าวประจำทำเนียบขาว ยังรวมตัวกันออกแถลงการณ์ด้วยว่า สื่อมวลชนขอคัดค้านนโยบายนี้ให้ถึงที่สุด เพราะประชาชนสหรัฐมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะได้รับฟังคำชี้แจงต่าง ๆ จากรัฐบาล และเพื่อทำให้รัฐบาลนี้ต้องมีความโปร่งใส ถูกตรวจสอบได้โดยสื่อผู้เข้าไปทำหน้าที่แทนประชาชน

25-6-2560-18-07-15 ความสัมพันธ์ระหว่างสื่อประจำทำเนียบขาวกับทีมงานโฆษก เหมือนคู่กัดซัดกันมาต่อเนื่องนับตั้งแต่ โดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำสหรัฐ และหลายครั้งที่ ฌอน สไปเซอร์ ถูกนักข่าวประจำทำเนียบไล่บี้ตั้งคำถามจนตัวตกอยู่ในที่นั่งลำบาก และหลายครั้ง ฌอน สไปเซอร์ ก็ไม่สามารถตอบนักข่าวได้ชัดเจน แก้ตัวแทนประธานาธิบดีแบบข้างๆ คูๆ ใช้คำพูดแรง จนถูกนักข่าวหัวร้อนไปตาม ๆ กัน

ด้วยเหตุทั้งหมดทั้งมวลที่ว่ามานั้น จึงข้อสังเกตว่า ทำไมทำเนียบขาวถึงกำหนดนโยบายนี้ขึ้นมา อาจเป็นเพราะทีมโฆษกต้องการที่จะลดการเผชิญหน้ากับสื่อ และหลีกเลี่ยงการโต้เถียงกับบรรดานักข่าวเก๋าสนาม

ที่มา  : washingtonpost.com / businessinsider.com