"นครินทร์" ย้ำ “ประชาธิปไตย”ไม่ใช่แค่มีส่วนร่วม

24 มิ.ย. 2560 | 05:14 น.
ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คนทั่วไปเข้าใจนิยามของ “ประชาธิปไตย” ว่า คือประชาชนมีส่วนร่วมกับการปกครองประเทศ ซึ่งการมีส่วนร่วม ในที่นี้ต้องมีความรู้สึกเป็นเจ้าของด้วย เมื่อรู้สึกเช่นนั้นแล้วก็ต้องเข้าไปทำงานรับผิดชอบในบางภารกิจที่สามารถรับผิดชอบได้ ดังนั้น การมีส่วนร่วมจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำว่า ประชาธิปไตย ทั้งหมดต้องทำเพื่อประชาชน“ของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน”ต้องมองให้ครบทั้ง 3 ส่วนนี้

[caption id="attachment_168819" align="aligncenter" width="342"] ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[/caption]

นักวิชาการรายนี้วาดภาพอนาคตเส้นทางประชาธิปไตยของไทยไว้ว่า เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญใหม่ได้บัญญัติเอาไว้ ในส่วนของระบบการเลือกตั้งก็อาจมีข้อจำกัดอยู่บ้าง ในขณะที่เรื่องของสิทธิเสรีภาพยังคงมีอยู่ ซึ่งส่วนตัวมองว่า ไม่ได้ด้อยลงจากเดิม ที่ต้องรอดู คือ การใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนว่า จะวิวัฒนาการไปอย่างไร ขณะที่การปกครองท้องถิ่น ระบบราชการก็ต้องปรับตัวกันใหม่ ส่วนภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคมนั้นต้องปรับตัวอย่างมาก

“ต้องดูกันต่อไปว่า การปรับตัวของภาคส่วนต่างๆนั้นจะไปในหนทางใด การใช้อำนาจของส่วนต่างๆไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน สมาคม พรรคการเมือง ประชาชน ส่วนต่างๆ ภาครัฐ ภาคเอกชนจะสามารถดำเนินไปโดยสมัครสมานสามัคคี แล้วทำให้บ้านเมืองมีความสงบสุขได้หรือไม่ อย่างไร ถ้าเกิดความสมดุลได้ เราก็พอจะเรียกได้ว่า เป็นประชาธิปไตย ทุกอย่างก็ยังมีเหมือนเดิม แต่ก็ต้องยอมรับว่า มีบางเรื่องที่ถูกจำกัดลง และบางเรื่องที่ได้เพิ่มขึ้นมาในระบบการเมืองไทย”
สำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆนี้นั้น อาจจะทำให้เรียกได้ว่า ประเทศไทยได้ประชาธิปไตยกลับมาแล้ว แต่สิ่งที่สำคัญ คือ ประชาธิปไตยที่ได้กลับมานั้นจะยั่งยืนมั่งคงหรือไม่ เมื่อมีการเลือกตั้งแล้วไม่ได้หมายความว่า จะกลับไปเหมือนเดิมอีกไม่ได้ ต้องใช้เวลาพิสูจน์กันอีกว่า คนที่มาใช้สิทธินั้นหวงแหนในประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด จะช่วยกันประคับประคองระบบการปกครองให้อยู่ในระบบมีความสมัครสมานสามัคคี ทำงานปรองดองกันไปได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องรอดูกันต่อไป

ยอมรับว่าการเลือกตั้ง เป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ หรืออย่างน้อยที่สุดในระบบประชาธิปไตยทั่วไป ควรต้องมีการเลือกตั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาล่าง หรือสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องมาจากประชาชน ผมขอหมายเหตุตรงนี้ไว้ เพราะการเลือกตั้งมี 108 ระบบ ซึ่งประเทศไทยเองก็มีเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ยังเป็นปัญหาวุ่นวายตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การเลือกตั้ง ถือเป็นจุดหรือรอยต่อที่สำคัญ”