85 ปี เปลี่ยนแปลงการปกครอง “นครินทร์” ชี้ “ประชาธิไตยไทย”ไม่เดินเป็นเส้นตรง

24 มิ.ย. 2560 | 04:28 น.
85 ปี เปลี่ยนแปลงการปกครอง “นครินทร์” ชี้ “ประชาธิไตยไทย”ไม่เดินเป็นเส้นตรง

ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงเส้นทางประชาธิปไตยของไทยกว่า 8 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยพาย้อนกลับไปรำลึกถึงเหตุการณ์ในวันนั้นว่า ช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เกิดการยึดอำนาจโดยคณะราษฎร จากนั้นคณะราษฎรได้ทำคำกราบบังคมทูลอัญเชิญพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 7 ให้ตอบรับกลับมาเป็น “พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” หรือที่เรียกกันในเวลาต่อมาว่า“ระบอบราชาธิปไตยจำกัดอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญ” ก่อนที่การปกครองของไทยจะใช้คำว่า “ประชาธิปไตย” ในเวลาต่อมา

[caption id="attachment_168819" align="aligncenter" width="342"] ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[/caption]

น่าสนใจว่า ในห้วงเวลาหลังจากนั้น ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบแล้วใช่หรือไม่..ศ.ดร.นครินทร์ อธิบายพร้อมกับมีคำถามให้ขบคิดตามมาว่า ก่อนเกิดเหตุการณ์ในวันนั้นการปกครองของไทยยังเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบการปกครองซึ่งพระมหากษัตริย์ปกครองประเทศมีอำนาจสมบูรณ์ เป็นการปกครองโดยพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว ดังนั้น การจะเคลื่อนสู่ระบอบการปกครองโดยคนส่วนใหญ่ด้วยคนทั้งหมดนั้นจะทำได้อย่างไร?

ผมเข้าใจว่า เวลานั้นผู้ที่นำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปัญญาชน คนที่มีความรู้ทางการเมืองการปกครองระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะใช้คำว่า “ประชาธิปไตย” จึงใช้คำว่า“ระบบราชาธิปไตยจำกัดอำนาจ” ซึ่งมี 2-3 วิธีการที่สำคัญ คือ การจำกัดอำนาจพระองค์ด้านการบริหาร ซึ่งก่อนวันที่ 24 มิถุนายนนั้น พระมหากษัตริย์จะเป็นประมุขของฝ่ายบริหาร ประทับต่อหน้าที่ประชุมเสนาบดีสภา (ปัจจุบันคือที่ประชุมคณะรัฐมนตรี)โดยใช้ทับศัพท์ว่า ท่านเป็น “Prime minister”
วิธีที่ 2 คือ การจำกัดพระราชอำนาจด้านนิติบัญญัติหรือการตรากฎหมาย โดยการโอนพระราชอำนาจส่วนนี้ไปไว้ที่ “สภาผู้แทนราษฎร” ซึ่งหลังการยึดอำนาจในวันนั้น 2-3 วันถัดมาได้มีการจัดตั้งสภาผู้แทนราษฎรขึ้นเป็นการชั่วคราว มีสมาชิกประมาณ 70 คน ต่อมาจึงมีสภาผู้แทนราษฎร ที่มาจากการเลือกตั้งและการแต่งตั้งอย่างละครึ่ง

สุดท้ายที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ การจำกัดพระราชอำนาจโดยรัฐธรรมนูญ ซึ่งเวลานั้นเรียกว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว”ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ส่วนคำว่า “รัฐธรรมนูญ” นั้นมาใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475
อย่างไรก็ดี การจำกัดพระราชอำนาจดังกล่าวนั้น เขาวิเคราะห์ว่า เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การปกครองโดยคนหมู่มากเท่านั้น โดยอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เรียกห้วงเวลาตั้งแต่ปี 2475- 2489 นี้ว่า“ระบบกึ่งประชาธิปไตย”สิ่งที่คณะราษฎรทำนั้นจึงเป็นแค่กึ่งประชาธิปไตย เป็นระบบราชาธิปไตยจำกัดพระราชอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญ ความพยายามที่จะเดินทางไปสู่“ประชาธิปไตยเต็มใบ”นั้น ยังต้องใช้เวลาอีกยาวนาน ศ.ดร.นครินทร์ ระบุ และขอเรียกว่า“ประชาธิปไตยแบบมีข้อจำกัด” หรือ limited democracy น่าจะเข้ากับสถานการณ์ดีกว่า เนื่องจากมองว่า มีองค์ประกอบบางส่วนที่ยังรอระยะเวลาอยู่ เช่น การเลือกตั้ง สิทธิเสรีภาพ ความพร้อม การจัดการการปกครองท้องถิ่น ภาคประชาสังคม การรวมตัวกัน การใช้สิทธิเสรีภาพ รวมถึงระบบการควบคุมดูแลตรวจสอบ เป็นต้น

จากนั้นได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับพัฒนาการของระบบประชาธิปไตยของไทยจนถึงวันนี้ โดยชี้ให้เห็นว่า ระบบประชาธิปไตยของไทย ไม่ได้เดินเป็นเส้นตรง มีทั้งย้อนแย้ง ขัดแย้ง ขณะที่บางครั้งก็ดูเหมือนจะทะยานขึ้น แต่สุดท้ายแล้วกลับม้วนตัวลงซึ่งก็มีลักษณะเช่นนี้มาแล้วหลายครั้ง แต่การหมุนวนกลับไปในแต่ละครั้งนั้นไม่ได้วนกลับไปยังจุดเดิม เนื่องจากมีหลายเรื่องที่จบไปแล้ว หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 เช่น ประเทศไทยควรมีรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ไม่ทราบว่า รัฐธรรมนูญของเราจะมีหน้าตาอย่างไร รวมถึงการเป็นประเทศปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นต้น

“ผมเชื่อว่า จะไม่วนกลับไปที่เดิม ประชาธิปไตยของเราได้วิวัฒนาการมาตามชะตากรรมของเราเอง เช่น ประชาธิปไตยแบบไทยในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ที่ท่านใช้อำนาจตามมาตรา 17 เต็มที่และก็ใช้ชนิดที่เรียกว่า รุนแรงด้วย มียิงเป้า ประหารชีวิตคนเป็นจำนวนมาก ขณะที่วันนี้เราก็วิวัฒนาการไปอีกแบบหนึ่งซึ่งเราต้องพยายามหาจุดสมดุลในอำนาจของฝ่ายต่างๆของเราเอง”