ดันปฏิรูประบบบัญชีทรัพย์สินวัดสกัดทุจริตเงินทอน

28 มิ.ย. 2560 | 02:00 น.
ปมประเด็นเกี่ยวกับศาสนสมบัติ เป็นปัญหาสะสมมายาวนาน แต่กระแสกลับมาแรงช็อกพุทธศาสนิกชน เมื่อเกิดกรณีการฆ่าสามเณรปลื้ม วัดวังตะวันตก จังหวัดนครศรีธรรมราช ในเรื่องเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ภายในวัด และกรณีทุจริตเงินทอน 12 วัด ที่มีอดีตข้าราชการระดับสูงในสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)ร่วมอยู่ด้วย จน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องสั่งการให้เร่งดำเนินคดีเอาผิดกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง

**คืบทุจริตเงินทอน 12 วัด
ความคืบหน้ากรณีหลังนี้ กองบังคับการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (บก.ปปป.) ได้แจ้งข้อหาโดยมีบุคคลเกี่ยวข้อง 9 ราย เป็นอดีตผู้อำนวยการ พศ., รองผู้อำนวยการ พศ., ผู้อำนวยการส่วนบูรณะพัฒนาวัดและการศาสนาสงเคราะห์ พศ., พระ 1 รูป ที่เหลือเป็นพลเรือน ในฐานความผิดทุจริต ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเบียดบังเอาเงินของรัฐไปเป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น

พฤติกรรมการกระทำความผิด จะเป็นการใช้อำนาจในการจัดสรรเงินอุดหนุนงบประมาณ (งบอุดหนุนจ่ายให้วัดใน 3 กรณี คือ 1.เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์วัด,2.เพื่อการศึกษาพระปริยัติธรรม และ 3.เพื่อการเผยแผ่ดำเนินกิจกรรมทางศาสนา) ซึ่งพบว่าเจ้าหน้าที่ พศ. จะรู้เห็นกับทางวัด โดยที่ทางวัดจะส่งเรื่องขอ “งบอุดหนุน” ไปยังจังหวัดรวบรวมแล้วส่งต่อให้ทางพศ. เมื่อพิจารณาอนุมัติแล้ว พศ.จะโอนเงินให้กับวัดเต็มจำนวนตามที่เสนอ แต่ทางวัดจะเก็บเงินไว้เพียง 25% ที่เหลืออีก 3 ใน 4 หรือ 75% จะโอนกลับเป็น “เงินทอน” ให้กับขบวนการหักหัวคิว

ทั้งนี้ ที่มาการตรวจสอบปมฉาวทุจริตเงินอุดหนุน 12 แห่งนี้ สืบเนื่องจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้รับเบาะแส นำไปสู่การตรวจข้อมูลเงินงบประมาณพศ. ในช่วงปี 2555-2559 โดยมีการเบิกจ่ายงบประมาณ 33 วัด แต่ที่พบเข้าข่ายทุจริตมี 12 วัด ความเสียหายรวม 60.5 ล้านบาท สูงสุดเป็นวัดพนัญเชิงวรวิหาร ถึง 13 ล้านบาท

**เสียหายกว่า 500 ล้าน
อย่างไรก็ดีที่กล่าวข้างต้นเป็นเพียง 12 วัด และเป็นการทุจริตที่ตรวจสอบเฉพาะส่วนที่เป็นงบอุดหนุนบูรณะซ่อมแซมวัด ยังไม่รวมงบอุดหนุนอื่นๆ (ข้อ 2 และ 3) และหากนับรวมวัดที่อยู่ในข่ายต้องสงสัยที่ พศ.กำลังจะเข้าไปตรวจสอบอีกกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ ความเสียหายจากการประเมินอาจมากกว่า 500 ล้านบาท

บทเรียนที่เกิดขึ้นซ้ำซาก จึงทำให้สังคมเกิดคำถามมากมาย ว่าศาสนสมบัติควรจะเป็นเรื่องเฉพาะสงฆ์หรือเปิดเผยต่อสาธารณะรับทราบ และหากยังเป็นเช่นปัจจุบันจะส่งผลเสียหายเพิ่มต่อประเทศชาติอย่างไร

แม้ว่ามติของที่ประชุมมหาเถรสมาคมที่ 407/2558 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2558 จะให้วัดทุกแห่ง (39,883 วัด ไม่นับรวมวัดร้าง) จัดทำรายงานบัญชีทางการเงินและทรัพย์สินของแต่วัดตั้งแต่ในปี 2558 โดยให้จัดส่งมาให้ พศ. เก็บรักษาไว้ก็ตาม แต่ก็เป็นแค่การขอความร่วมมือ

[caption id="attachment_168615" align="aligncenter" width="503"] ดันปฏิรูประบบบัญชีทรัพย์สินวัดสกัดทุจริตเงินทอน ดันปฏิรูประบบบัญชีทรัพย์สินวัดสกัดทุจริตเงินทอน[/caption]

**“ออมสิน”ขอหารือ มส.
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแล พศ.กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการสอบถามไปยัง พศ. ทราบว่าขณะนี้มีวัดที่ยื่นบัญชีรายรับ-รายจ่ายของปีงบประมาณ 2559 แล้ว 96% ของจำนวนวัดทั่วประเทศ แต่ตนยังไม่เห็นรายละเอียดความครบถ้วน เช่นที่เราต้องการคือต้องรายงานถึงที่มาของรายได้-เงินอุดหนุน และรายจ่ายนำไปจ่ายใช้อะไร ตรงนี้มีไหม

รมว.ประจำสำนักนายกฯ ยังแสดงความเห็นต่อข้อเสนอของ สมาชิกสปช. ที่ต้องการให้ออกกฎหมาย จัดการทรัพย์สินวัดและพระภิกษุ ว่าต้องดูความครบถ้วนบัญชีที่วัดทำในขณะนี้ก่อน ตนขอหารือร่วมกับ พศ. และมหาเถรสมาคม (มส.) ซึ่งที่ผ่านมาทาง มส.ให้ความร่วมมืออย่างดีเห็นด้วยที่จะให้วัดทำบัญชี

**“พระพยอม”หนุน
ด้านพระราชธรรมนิเทศ พระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว กล่าวในงานสัมมนา “กฎหมายใกล้สงฆ์” จัดโดย สปริงส์ กรุ๊ป ว่าการปกครองให้ส่วนรวมอยู่ในระเบียบเรียบร้อย เกิดความสงบสุข จำเป็นต้องอยู่ในระบอบปกครองของประเทศ การปกครองของคณะสงฆ์ก็ต้องไปด้วยกัน เช่นเรื่องการรายงานบัญชีรับ-จ่ายของวัด เพียงแต่รัฐควรกำหนดเฉพาะวัดที่มีรายได้เกิน 100 ล้านบาท ที่มีเพียง 900 แห่งเฉพาะวัดใหญ่ๆ เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องทุกวัด เพราะบางวัดมีพระเพียงรูปเดียว รายได้ยังไม่พอค่านํ้าค่าไฟ

“ปกติหัวคิวกินกัน 20-30% ก็ถือว่ามากแล้ว เป็นพระไม่รู้หรือว่าการที่เขาเอาเงินทอน ถึง 80% ยิ่งผิดปกติ และเป็นไปได้อย่างไรที่เรามาถึงยุคที่วัดมีรายได้กันเป็นพันเป็นหมื่นล้านบาท ดังนั้นลำพังพระธรรมวินัย อาจเอาอยู่หากอยู่ในป่า แต่มาอยู่ในเมือง ก็ต้องอยู่ในกรอบปกครองของประเทศ”

สอดคล้อง กับผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน 1,250 ตัวอย่าง โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้าโพลล์ ในหัวข้อ “การทุจริตเงินอุดหนุนวัด” ระหว่างวันที่ 14-16 มิถุนายน 2560 ความคิดเห็นเกี่ยวกับความโปร่งใสในการบริหารจัดการทรัพย์สินวัด พบว่า 37.36% ระบุว่า ไม่มีความโปร่งใสเลย ขณะที่ 2.32% ระบุว่า มีความโปร่งใสมาก นอกจากนี้ 90.24% ยังเห็นด้วยว่าควรเปิดเผยข้อมูลบัญชีให้สาธารณชนทราบ

**ปฏิรูปสงฆ์ขึ้นกับนายกฯ
อย่างไรก็ดีการจะผลักดันปฏิรูปสงฆ์ โดยเฉพาะการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินวัด จะบรรลุผลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่า นายกรัฐมนตรี จะมีธงในเรื่องนี้อย่างไร แม้ล่าสุด (20 มิถุนายน) หลังการประชุมครม. “พล.อ.ประยุทธ์” ยืนยันว่าจะไม่ใช้ ม. 44 แต่การออกคำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้ ม. 4 แต่งตั้ง พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ อดีตผู้บัญชาการสำนักคดีภาษีอากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้ามาเป็นผู้อำนวยการ พศ.คนใหม่ ตั้งแต่ต้นปี 2560 ตลอดจนมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เอาผิดทางวินัย กับข้าราชการระดับสูงในพศ. อย่างเข้มข้น ก็น่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับคณะสงฆ์ไทยแน่นอน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,273 วันที่ 25 - 28 มิถุนายน พ.ศ. 2560