คุมเข้ม OTT โจทย์ยากดึง‘เฟซบุ๊ก-ยูทูบ’เข้าระบบ

28 มิ.ย. 2560 | 01:00 น.
เป็นเพราะบรรดาผู้ประกอบการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ Over The Top หรือ OTT โดยเฉพาะผู้ประกอบการ OTT ที่มีรายได้จากการเรียกเก็บค่าสมาชิกรายเดือนหรือรายปี (Subscription Video on Demand หรือ SVoD) และผู้ประกอบการ OTT ที่มีรายได้หลักจากการโฆษณา (Advertising-Based Video on Demand หรือ AVoD) เช่น ช่อง 7 (Bugaboo) ช่อง 3 (3Live) โมโนแม็กซ์ (Monomaxxx) ไลน์ทีวี และแกรมมี่ เรียกร้อง กสทช.ให้ดำเนินการลงทะเบียนเพื่อเก็บข้อมูลที่ถูกต้อง

**ย้อนรอย
เป็นเพราะอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า OTT สามารถแพร่ภาพอินเตอร์เน็ตโดยไม่ต้องลงทุนโครงข่ายสัญญาณของตนเอง อย่างกรณีของ เฟซบุ๊ก และ ยูทูบ เปิดให้ผู้ชมไลฟ์สด ในช่องทางได้ด้วยตัวเอง ที่สำคัญทั้งเฟซบุ๊ก และ ยูทูบ มีรายได้โฆษณาก้อนโต (ดูตารางประกอบรายได้โฆษณา)
นั่นจึงเป็นที่มาที่บรรดาผู้ประกอบการทีวี และแพลตฟอร์ม ทีวี ในประเทศไทยรวมตัวเรียกร้องให้มีการลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์

MP22-3273-A **35 รายร่วมประชุมลงทะเบียน
พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์หรือ กสท. และในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ Over The Top) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า OTT เป็นส่วนหนึ่งของกิจการ กสท. ซึ่งทำหน้าที่ดูแลและพิจารณารายละเอียดขอบเขตการให้บริการของผู้ประกอบการ พร้อมวางแนวทางในการปฏิบัติ ซึ่งเบื้องต้นยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา

อย่างไรก็ตามได้เรียกประชุมบรรดาผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล จำนวน 24 ราย และผู้พัฒนาแพลตฟอร์มทีวี จำนวน 15 ราย รวมทั้งเฟซบุ๊ก และยูทูบ มารับฟังความคิดเห็น และดำเนินการลงทะเบียนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ปรากฏว่าเฟซบุ๊กกับยูทูบไม่มาร่วมประชุม

“การลงทะเบียนเข้าสู่ระบบจะทำให้ สำนักงาน กสทช. สามารถดำเนินการป้องกันและปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ของบริการ OTT ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และดูแลเนื้อหาให้เหมาะสมแก่เด็กและเยาวชน”

**แนวทางดี
ด้านนายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยด้านโทรคมนาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า ตามที่ กสทช. ออกแนวทางการดูแลธุรกิจที่เกี่ยวกับบริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ผ่านโครงข่ายอื่นที่มิใช่โครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ (Over the Top หรือ OTT) ซึ่งก่อนหน้านี้ กสทช. แสดงท่าทีที่จะออกมาตรการกำกับดูแลโอทีทีอย่างจริงจังมาโดยลำดับ

อย่างไรก็ตามในแง่ดีต้องยอมรับว่า กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแลทั้งสื่อ และโทรคมฯมีความตื่นตัวรับกระแสเทคโนโลยีที่แปรเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว รวมถึงมองเห็นถึงผลกระทบของโอทีทีที่กำลังรุกคืบเข้ามามีบทบาท ทั้งในแง่ของเทคโนโลยีและการทำธุรกิจที่กำลังจะเปลี่ยนไป และบางอย่าง อาจจะใช้กฎระเบียบเดิมๆ กำกับดูแลธุรกิจไม่ได้ หรือ บริการหลายอย่างบนโอทีทีล้วนมีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและทำให้เกิดการขยายตัวด้านการใช้งานโครงข่ายโทรคมฯและการสื่อสารข้อมูล ซึ่งจะนำไปสู่เม็ดเงินไหลเวียนในธุรกิจต่างๆ ทั้งธุรกิจสื่อ ธุรกิจบริการ โทรคมฯ หรือแม้แต่กลุ่มสตาร์ต อัพ และแน่นอนย่อมกระทบต่อธุรกิจในรูปแบบเดิมบางอย่าง ที่อาจจะปรับตัวไม่ทันหรือโดนกระแสโอทีทีเข้ามาแข่งขันและแย่งรายได้ไปเนื่องจากความสะดวก รวดเร็ว เข้าถึงได้มากกว่าธุรกิจแบบเดิม เห็นชัดๆในธุรกิจสื่อ โฆษณา หรือธุรกิจบริการจำพวกการให้บริการบางอย่างที่สั่งซื้อและส่งของได้รวดเร็วไม่ต้องเดินทาง รวมถึงโทรทัศน์ช่องต่างๆ ทั้งแบบฟรีทีวีและแบบบอกรับสมาชิก เป็นต้น

MP22-3273-B **แนะสร้างสมดุล
อย่างไรก็ตามกฎเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนดจึงต้องทั้งรองรับและควบคุมโอทีทีได้ทั้ง 2 ทางคือต้องไม่ปิดกั้นเสียเลยทีเดียวแต่ก็ต้องไม่กระทบบริการพื้นฐานบางอย่างเกินไป หรือไม่ให้กระทบผู้ประกอบการเดิมที่ขออนุญาตให้บริการถูกต้อง แต่ไม่สามารถแข่งขันได้เพราะมีต้นทุนที่ต่างไป รวมถึงการปกป้องผู้ประกอบการในประเทศที่อาจได้รับผลกระทบจากโอทีที ที่ดำเนินธุรกิจได้จากนอกประเทศ แต่สามารถมาสร้างรายได้เพราะมีทุนหรือต้นทุนที่ตํ่ากว่า อาจกล่าวได้ว่า กสทช. ต้องสร้างสมดุลทั้งฝั่ง ของผู้ทำธุรกิจและประโยชน์ของผู้ใช้เทคโนโลยีโอทีที การสร้างสมดุลของการออกกฎกำกับดูแลต้องไม่ฝืนการเติบโตของเทคโนโลยีและไม่ปิดกั้นความต้องการของผู้ใช้งาน

หากการดูแลเกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายจะทำให้ธุรกิจ โอทีทีเติบโตอย่างเหมาะสมในบ้านเรา กรณี กสทช. ให้เจ้าของเพจดังมาลงทะเบียน หรือ แม้แต่การพยายามดึงให้เฟซบุ๊ก หรือ ยูทูบ มาลงทะเบียนหรือแม้แต่มาจัดตั้งสำนักงานในไทย เพื่อให้สามารถจัดการหรือขอความร่วมมือในด้านการควบคุมเนื้อหานั้น มีความเป็นไปได้มากว่าทั้งเฟซบุ๊กหรือยูทูบ อาจจะยังไม่มาตั้งสำนักงานในไทย ณ ตอนนี้

ทั้งนี้เมื่อพิจารณารูปแบบการให้บริการของ เฟซบุ๊ก หรือ ยูทูบ ซึ่งถือเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียระดับโลก ที่ให้บริการได้โดยไม่ต้องเปิดสำนัก งานในทุกประเทศ ซึ่งเป็นการอาศัยรูปแบบบริการโอทีทีแบบหนึ่ง และที่ผ่านมามีรายได้จากการดำเนินงานมหาศาล ซึ่งจะโยงไปถึงเรื่องการเสียภาษี และการแสดงรายได้ที่เกิดในประเทศไทย

ส่วนถ้าเป็นเรื่องการควบ คุมเนื้อหาที่ผ่านมาแม้ทั้งเฟซบุ๊ก และ ยูทูบ ให้ความร่วมมือกับทางการไทยในการปิดเพจ หรือ เนื้อหาที่ขัดกฎหมายไทยตามคำสั่งศาล แต่จริงๆ แล้วการจำกัดหรือควบคุมเนื้อหาที่มีประสิทธิภาพกว่า อาทิ บนเฟซบุ๊ก คือ การใช้ทั้งอัลกอริทึมด้านการควบคุมเนื้อหาที่เฟซบุ๊ก มีร่วมการทำงานกับทีมงานของเฟซบุ๊กในการคัดกรองและปิดกั้นเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมได้อย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องรอให้เป็นคำสั่งศาลซึ่งต้องใช้ระยะเวลาออกคำสั่งนานกว่า แต่กระบวน การดังกล่าวยังไม่เกิดความร่วมมือกับเฟซบุ๊ก และนำมาใช้ในประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบ

แน่นอนว่าการจัดระเบียบครั้งนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อเฟซ บุ๊ก และยูทูบ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะถ้าไม่เข้ามาในระบบตามกฎเกณฑ์ก็เท่ากับว่าผิดระเบียบเช่นเดียวกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,273 วันที่ 25 - 28 มิถุนายน พ.ศ. 2560