ทุน FDI ยังไหลเข้าเวียดนาม ต่างชาติมองค่าแรงเอื้อ-ไม่สนมะกันถอนตัวทีพีพี

27 มิ.ย. 2560 | 04:00 น.
เวียดนามยังคงเป็นแหล่งลงทุนที่ดึงดูดใจนักลงทุนต่างชาติ จากปัจจัยเรื่องค่าแรง แม้ว่าการถอนตัวของสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงทีพีพีอาจทำให้เวียดนามได้รับประโยชน์จากข้อตกลงดังกล่าวลดน้อยลงไป

รายงานจากรอยเตอร์ระบุว่า มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้าสู่เวียดนาม(FDI) ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2560 เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 6.15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และไม่มีทีท่าจากนักลงทุนว่า การที่สหรัฐ อเมริกาถอนตัวจากข้อตกลงการค้าความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) จะทำให้เวียดนามมีความน่าสนใจลดน้อยลงไป แม้ว่าก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์ต่างคาดหมายว่า เวียดนามจะเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีร่วม 12 ชาติดังกล่าวมากที่สุด

นายโรเจอร์ ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารทีเอแอล กรุ๊ป ผู้ผลิตสิ่งทอสัญชาติฮ่องกง กล่าวว่าราคาค่าแรงที่ถูกเป็นปัจจัยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ เช่นเดียวกับปัจจัยเรื่องผู้บริหารระดับกลาง จริยธรรมการทำงาน และนโยบายรัฐ โดยนายลียืนยันว่า ในขณะที่การลดภาษีนำเข้าของสหรัฐฯภายใต้ ทีพีพีถือเป็นโบนัส แต่เมื่อสหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงดังกล่าว ก็ไม่ทำให้เกิดความคิดที่จะปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนในเวียดนาม

ทีเอแอลตัดสินใจปิดโรงงานในจีนเนื่องจากเหตุผลเรื่องค่าแรง โดยค่าจ้างแรงงานผลิตสิ่งทอในเวียดนามอยู่ที่ 250 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน เทียบกับค่าแรง 700 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือนในจีน

เวียดนามเป็นประเทศที่ได้รับอานิสงส์สูงสุดจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศจีน และจีนเองก็กลายมาเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในเวียดนามเป็นอันดับต้นๆ ขณะที่การเข้าร่วมข้อตกลงทีพีพีนอกจากจะช่วยให้เวียดนามเข้าถึงตลาดขนาดใหญ่อื่นๆ ได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังเป็นการผลักดันให้เวียดนามปฏิรูปเศรษฐกิจของตนเองให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

[caption id="attachment_168630" align="aligncenter" width="427"] ทุนFDIยังไหลเข้าเวียดนาม ต่างชาติมองค่าแรงเอื้อ-ไม่สนมะกันถอนตัวทีพีพี ทุนFDIยังไหลเข้าเวียดนาม ต่างชาติมองค่าแรงเอื้อ-ไม่สนมะกันถอนตัวทีพีพี[/caption]

รายงานจากดีลอยท์ชี้ว่า นอกเหนือจากปัจจัยเรื่องแรงงานแล้ว เวียดนามยังมีความน่าสนใจในแง่ของตำแหน่งที่ตั้งที่อยู่ใกล้ประเทศจีน ซึ่งหมายถึงการเข้าถึงซัพพลายเชนด้านการผลิตที่สะดวก มีชายฝั่งทะเลยาว มีเสถียรภาพทางการเมือง มีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการทำธุรกิจที่ง่ายขึ้น รวมถึงการเป็นสมาชิกอาเซียน และการมีข้อตกลงการค้าเสรีกับอีกหลายประเทศทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี

นายเหงียน ชี ดุง รัฐมนตรีการลงทุนและวางแผนของเวียดนาม กล่าวกับรอยเตอร์ว่า เวียดนามตั้งเป้าดึงเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีในช่วง 5 ปีข้างหน้า ขณะที่ปีที่ผ่านมามีการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติเข้าสู่เวียดนามถึงกว่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เวียดนามต้องการดึงดูดการลงทุนที่มีความไฮเทคมากขึ้น เป็นการผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มที่ใช้พลังงานลดลง และพึ่งพาแรงงานค่าแรงตํ่าลดลง

นอกจากนี้ เวียดนามยังมีแผนที่จะเดินหน้าเข้าร่วมข้อตกลงทีพีพีที่เหลือเพียง 11 ชาติ หลังการถอนตัวของสหรัฐฯ เนื่อง จากเล็งเห็นประโยชน์ในการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจและการค้ากับต่างชาติ

ทั้งนี้ข้อมูลจากสำนักงานการลงทุนต่างชาติของเวียดนามระบุว่า ในปี 2559 มีโครงการลงทุนใหม่ที่ได้รับการอนุมัติ 2,556 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 1.51 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่มีโครงการเดิมอีก 1,225 โครงการที่ขอเพิ่มเงินลงทุนรวมมูลค่า 5.76พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเงินลงทุนเข้าสู่ภาคการผลิตสูงสุด 63.7% ตามมาด้วยอุตสาหกรรมรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ 7.79% และอสังหา ริมทรัพย์ 6.9%

ส่วนประเทศที่เข้ามาลงทุนในเวียดนามสูงสุดในปี 2559 ได้แก่ เกาหลีใต้ ด้วยมูลค่าการลงทุน 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นำโดยโครงการลงทุนของแอลจี ดิสเพลย์ มูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และโครงการของแอลจี อินโนเทค มูลค่า 550 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองลงมาคือญี่ปุ่น 2.58 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสิงคโปร์เป็นอันดับ 3 ด้วยมูลค่าลงทุน 2.41 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,273 วันที่ 25 - 28 มิถุนายน พ.ศ. 2560