คุณค่าอยู่ที่วางไว้ตรงไหน (2) : รวมกันเพื่อแบ่งปัน

25 มิ.ย. 2560 | 23:51 น.
tp13-3273-c แนวคิดของการรวมเอาความเด่นในทุกด้านของชุมชน ไม่ว่าทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม วิถีชีวิต ผลิตภัณฑ์ สถานที่ หรือคนในชุมชน มาสร้างโอกาสทางธุรกิจ สร้างรายได้ และสร้างความเข้มแข็งที่ยั่งยืนให้กับชุมชนนั้น จากบทเรียนในหลายประเทศที่เราไปดูงานกันมา เริ่มโครงการก็หลายโครงการ ทำทุกสิ่งทุกอย่างคล้าย ๆ กับที่เขาทำ ยกตัวอย่างโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมเพื่อการท่องเที่ยว หรือเรียกสั้น ๆ ว่า หมู่บ้าน JBIC เป็นโครงการเงินกู้จากธนาคารเพื่อการพัฒนาของญี่ปุ่น โครงการที่สร้างสถานที่พักริมทาง (Road side) ตามแบบที่เห็นในญี่ปุ่นเป็นการบริหารโดยท้องถิ่นเพื่อให้คนที่เดินทางสัญจรไปมาจอดแวะเพื่อเข้าห้องนํ้า ทานอาหาร หรือพักร่างกายจากการเดินทางโดยจะมีร้านอาหารทั่วไปที่เห็นๆ กัน เช่น ราเมง ข้าวราดแกงกระหรี่ หรืออื่นๆ และมีผลิตภัณฑ์ชุมชนทั้งในระดับพืชผลทางการเกษตรที่ชาวบ้านนำมาขาย ทั้งแบบสด หรือแบบปรุงให้ทานกันตรงนั้น และในร้านสะดวกซื้อจะมีสินค้าที่เป็นของท้องถิ่นไม่สามารถหาซื้อที่อื่นได้ ทำให้การพักรถทุกครั้งเป็นที่สนุกสนานและน่าตื่นใจของผู้ที่แวะมา

จากการดำเนินการกว่า 10 แห่ง ตั้งแต่กว่า 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าบางแห่งร้าง บางแห่งดำเนินการแบบแกนๆ เงียบเหงา บางแห่งคึกคักและเป็นศูนย์กลางของชุมชนในการใช้ประประโยชน์ทุกอย่าง แต่ที่แปลกคือ ไม่มีที่ไหนที่ถูกใช้เป็นแบบที่เราเริ่มคิดที่จะทำตามต้นแบบที่ญี่ปุ่นอย่างสมบูรณ์แบบสักที่ แต่หลายแห่งก็ประสบความสำเร็จของตัวเองในอีกรูปแบบหนึ่ง บางหมู่บ้าน อาคารตั้งในหมู่บ้าน ห่างจากถนนหลวงและไกล ซึ่งต่างจากวัตถุประสงค์เดิม แต่ก็ประสบความสำเร็จ กลายเป็นจุดหมายปลายทาง (Destination) ที่คนมุ่งหน้าไปหา แม้ว่าต้องแยกเข้าไปจากเส้นทางหลักหลายกิโลเมตร บางแห่งตั้งบนถนนสายหลักของการเดินทางในสถานที่ท่องเที่ยวตามแนวคิดญี่ปุ่นแต่สถานที่กลับรกร้าง ปราศจากการใช้ประโยชน์ ไร้ผู้คนสนใจ อะไรที่เป็นเส้นแบ่งของความสำเร็จและล้มเหลว เท่าที่เห็นอาจมีหลายปัจจัย แต่ที่สำคัญที่สุดคือ การมีจิตวิญญาณของชุมชนในทุกมิติ ตั้งแต่การมีส่วนร่วม จนถึงผลิตภัณฑ์และบริการ

บ้านนาต้นจั่น อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ เพราะสถานที่ตั้งห่างจากถนนหลักของการเดินทางของนักท่องเที่ยว การเดินทางไปต้องแยกเข้าถนนรองกว่า 20 กิโลเมตร แต่ก็เป็นจุดหมายของการมาเยือนของคนหลายร้อยคนในแต่ละสัปดาห์ นักท่องเที่ยวต่างประเทศมาเยี่ยมและพักจำนวนมาก บางครั้งต้องจองล่วงหน้า ผมเข้าไปครั้งหนึ่ง ไม่มีที่พัก ต้องอาศัยบ้านน้องร่วมงานผู้น่ารักเจือจานที่พักให้ได้มีโอกาสสัมผัสบรรยากาศของชุมชนตั้งแต่ยํ่าคํ่า ยามดึก และเช้าตรู่ พอเข้าใจได้ว่าที่แห่งนี้แม้ว่าจะมีผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อคือ ผ้า แต่อัตลักษณ์ในเรื่องลวดลายก็ไม่ดังเหมือนที่อื่นๆ นอกจากผ้าหมักโคลน แต่ก็สามารถจำหน่ายได้ปีละหลายล้านบาท จากการที่ผู้คนมาเยือน ไม่มีสาขาประจำในเมือง นอกจากออกงานบ้างตามจังหวะ ถ้าใครอยากซื้อของแท้ต้องมาที่นี่ และมีจำหน่ายที่อาคาร JBIC เท่านั้น หรือข้าวเปิบ ก๋วยเตี๋ยวปากหม้อ (ผมเรียกเอง) ที่มีเรื่องราวน่าสนใจ ไม่มีสาขาที่อื่นและในหมู่บ้านก็มี 2 แห่งเท่านั้น ไม่แย่งและแข่งขันกันทำ หานอกหมู่บ้านไม่ได้ มีโฮมสเตย์ที่เป็นแบบโฮมสเตย์จริง ๆ อยู่ร่วมชายคาเดียวกับเจ้าของบ้าน ได้รับการรับรองจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยทุกหลัง และมีกิจกรรมทำอาหารเช้าร่วมกัน สถานที่ท่องเที่ยวใหม่ที่พยายามสร้างขึ้นมาเพื่อให้ผู้มาเยือนมีความหลากหลายในกิจกรรมมากขึ้น และก่อให้เกิดกิจกรรมหลายอย่างที่คนในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมและมีรายได้มากขึ้น เช่น การบายศรีสู่ขวัญที่ทำให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมและรายได้เล็กๆ น้อยๆ และที่สำคัญได้ทำให้ตนเองเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุมชน

การสร้างจุดชมวิวบนเขา ที่สร้างงานให้เด็กๆ ในฐานะลูกหาบ มัคคุเทศก์น้อย และชาวบ้านบางส่วนก็มีรายได้จากการดัดแปลงรถอีแต๋นมารับส่งนักท่องเที่ยว โดยมีการจัดการที่ดี สร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนนี้ เพื่อให้ทุกคนแบ่งปันรายได้กัน และครั้งหนึ่งชุมชนปฏิเสธการเข้ามาของรถรางไฟฟ้าจากนักลงทุนนอกหมู่บ้านเพื่อรับส่งนักท่องเที่ยว เพราะต้องการให้คนในชุมชนมีรายได้จากสิ่งที่ตนเองมีอยู่และเป็นแบบวิถีชีวิตของชุมชนจริงๆ

ที่นี่อาจเริ่มจากการรวมตัวของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเพียงไม่กี่คนที่ต้องการสร้างรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อจุนเจือครอบครัวที่ยากจน การเข้ามาของอาคาร JBIC การส่งเสริมความรู้ของหน่วยงานต่าง ๆ เปิดโลกทัศน์ของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่มีจิตใจแน่วแน่ในการพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชนแห่งนี้ ก้าวแต่ละก้าวคำนึงถึงการมีส่วนร่วม เดินด้วยกัน และแบ่งปันกันอย่างพี่อย่างน้อง ทำให้หมู่บ้านแห่งนี้กลายเป็นจุดหมายการมาเยือนของผู้คนมากมายและเป็นสถานที่เรียนรู้ของหลายชุมชน อย่างไรก็ตาม การเดินรอบหมู่บ้านทำให้ผมทราบว่าบางจุด บางกลุ่ม ยังต้องการถูกดึงเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเพียงต้องหากิจกรรมที่เหมาะสมที่ให้เขามีส่วนร่วมและมีรายได้จากกิจกรรมนั้นด้วยได้แล้วก็น่าจะทำให้ทุกจุดในหมู่บ้านเป็นจุดเช็กอินที่น่าสนใจทุกจุด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,273 วันที่ 25 - 28 มิถุนายน พ.ศ. 2560