IFEC ตั้งกังหันลมในทะเล ชงรัฐบาลตั้งเป้าผลิตไฟ300MW

26 มิ.ย. 2560 | 01:05 น.
“วิชัย” โชว์ไอเฟค ลุยพัฒนาพลังงานทดแทน 3 ปี ตั้งเป้ากำลังการผลิตเพิ่มกว่า 400 เมกะวัตต์ รอแค่รัฐกดปุ่มเปิดรับซื้อไฟฟ้ารูปแบบไฮบริดปลายปีนี้ พร้อมชงรัฐบาลผลักดันผลิตไฟฟ้าพลังงานลมตั้งในทะเลเป็นแห่งแรก

ปัญหาความขัดแย้งของผู้ถือหุ้นภายในบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC ที่คาดว่าจะได้การคลี่คลายลงภายในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทสามารถเดินหน้าการดำเนินธุรกิจด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนต่อไปได้ ที่มีแผนจะเข้าลงทุนผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนในรูปแบบผสมผสานหรือไฮบริด ที่กระทรวงพลังงานตั้งเป้าเบื้องต้นรับซื้อไฟฟ้าไว้ราว 300 เมกะวัตต์ รวมถึงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะนำกังหันลมไปติดตั้งในทะเลห่างจากฝั่งประมาณ 5 กิโลเมตร และส่งไฟฟ้ามาขายบนบก หากโครงการนี้สามารถดำเนินการได้ จะถือว่าเป็นโครงการนำร่องที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นแห่งแรก

ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าวจะส่งผลให้ IFEC มีกำลังการผลิตจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นกว่า 430 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีอยู่ราว 30 เมกะวัตต์

นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ คาดว่าการแก้ปัญหาภายในของบริษัทน่าจะได้ข้อยุติทั้งหมด หลังจากนั้น บริษัทจะเดินหน้าเข้าสู่แผนการลงทุนพัฒนาพลังงานทดแทนมากขึ้น โดยมีเป้าหมายว่าในช่วง 3 ปี(2560-2562) บริษัทน่าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นไปได้กว่า 430 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีอยู่ราว 30 เมกะวัตต์ จาก 16 โครงการ

18568 โดยเบื้องต้นจะเข้าลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์ฟาร์มร่วมกับพลังงานนํ้า ที่กระทรวงพลังงานมีแผนจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบผสมผสานของเชื้อเพลิงหรือไฮบริดในช่วงปลายปีนี้ และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 2563 ซึ่งบริษัทตั้งเป้าหมายที่จะผลิตไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าวไว้ 100 เมกะวัตต์ ซึ่งมองว่าราคาที่รัฐรับซื้อ 3.66 บาทต่อหน่วยนั้น บริษัทสามารถที่จะดำเนินการในต้นทุนที่ตํ่าได้ เนื่องจากมีพันธมิตรที่จะมาร่วมลงทุนและเทคโนโลยีในการผลิตไฟฟ้ารูปแบบไฮบริดได้ ซึ่งได้มีการเจรจาไปเช่น จีนและแคนาดา

อีกทั้ง ล่าสุดบริษัทได้ส่งผลศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ที่ตั้งอยู่ในทะเล ห่างจากฝั่งประมาณ 5 กิโลเมตร ในบริเวณ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้กับรัฐบาลไปพิจารณาอนุมัติให้บริษัทดำเนินการ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่พิเศษ มีปัญหาต่อความมั่นคงของประ เทศและด้านพลังงาน ที่มีไฟฟ้ายังไม่เพียงพอ ซึ่งผลการหารือเบื้องต้นทางรัฐบาลมีความสนใจที่จะเสนอเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

[caption id="attachment_147531" align="aligncenter" width="455"] วิชัย ถาวรวัฒนยงค์ วิชัย ถาวรวัฒนยงค์[/caption]

นายวิชัยกล่าวอีกว่าสำหรับ โครงการดังกล่าวนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายกำลังการผลิตไว้ที่ 300 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นจังหวัดละ 100 เมกะวัตต์ ซึ่งจากผลการศึกษาแล้วการลงทุนมีความเป็นไปได้สูง จากกำลังแรงลมที่มีความสมํ่าเสมอในระดับ 6-7 เมตรต่อวินาที ซึ่งหากรัฐบาลตัดสินใจให้บริษัทดำเนินการในปีหน้าก็พร้อมลงทุนได้ทันที ซึ่งมูลค่าการลงทุนอาจจะสูงกว่าการตั้งกังหันบนฝั่ง อาจจะอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ ขณะที่บนฝั่งจะอยู่ราว 80 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์

ส่วนโครงการอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างศึกษา เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมชายฝั่งทะเล จังหวัดนครศรีธรรมราช ?ที่จะขยายเพิ่มอีก 6-8 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ใกล้กับโครงการเดิมที่จ่ายไฟฟ้าแล้ว 6.89 เมกะวัตต์ รวมถึงอยู่ระหว่างการรอจับสลากโครงการโซลาร์ฟาร์มในส่วนของราชการและสหกรณ์ฯอีก 2 โครงการ ขนาดโครงการละ 5 เมกะวัตต์ ในจังหวัดลำปางและลำพูน ที่จะมีขึ้นในวันที่ 26 มิถุนายนนี้

สำหรับโครงการโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ระยะที่ 1 ที่บริษัทได้ร่วมกับสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาด ที่เขตหนองจอก กทม.นั้น คาดว่าในเดือนกรกฎาคมนี้ จะสามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งจะทำให้บริษัทมีรายได้เข้ามา 2.5 ล้านบาทต่อเดือน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,273 วันที่ 25 - 28 มิถุนายน พ.ศ. 2560