ระวัง‘จ่ายค่าโง่’ รถไฟไทย-จีน

28 มิ.ย. 2560 | 01:30 น.
P1-3273-z เมื่อรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศใช้กฎหมายพิเศษ ม.44 แก้ปัญหาและข้อจำกัด โครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ให้สามารถเดินหน้าต่อไปถึงขั้นก่อสร้างได้ภายในอีก 3 เดือนข้างหน้า ได้ก่อให้เกิดคำถามว่าโครงการนี้ไทยได้ประโยชน์คุ้มค่าการลงทุนสูงถึง 1.79 แสนล้านบาทจริงหรือ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้จัดสัมมนาโต๊ะกลมโดยมีผู้เชี่ยวชาญในแวดวงวิศวกร ธุรกิจก่อสร้าง และอุตสาหกรรมเหล็ก มาร่วมกันไขปริศนาดังนี้

TP12-3273-BB **ควรมีวิศวกรท้องถิ่นร่วม
ดร.วิฑูร เจียมจิตต์ตรง นายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คำสั่งที่ 30/2560 หรือ ม.44 เป็นคำสั่งที่ไม่บังคับหรือยกเว้นกฎหมายหลายฉบับ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.วิศวกร 2542 สิ่งที่กังวลมี 3 เรื่อง 1.การละเว้น บางมาตราของ พ.ร.บ.วิศวกร 2542 รวมถึงสถาปนิกด้วย โดยที่สภาวิศวกรมีกลไกสำคัญที่เรียกว่า APEC Engineer เปิดช่องให้วิศวกรต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานในประเทศ และจีนก็เป็นสมาชิกอยู่แล้ว หากวิศวกรที่มีคุณสมบัติ(ตามสายงาน) สามารถจะยื่นขอเป็นวิศวกร APEC หรือ ACPE ได้โดยไม่ต้องทำการสอบซํ้า

P12-3273-1z 2. การละเว้นกฎหมายบางฉบับที่เกี่ยวข้องกับราคากลาง เป็นงานส่วนหนึ่งของวิศวกร ที่กำหนดราคากลางที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการก่อสร้างที่เกิดผลประโยชน์ที่ดีที่สุดต่อโครงการของรัฐ 3. การเร่งรัดการทำสัญญา เพราะสัญญาคือบทพิสูจน์ความสำเร็จของโครงการ ที่ผ่านมาเกิดกรณี “ค่าโง่” ในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ซึ่งเกิดจากการมีข้อสัญญาที่ไม่ดี จุดนี้เป็นเรื่องของวิศวกรด้วยที่ทำอย่างไรในการร่างสัญญาทั้งฝั่งเจ้าของ ผู้รับเหมา และที่ปรึกษาโครงการสามารถทำงานแล้วผลลัพธ์จบลง ทันเวลา ภายใต้งบประมาณ และภายใต้คุณภาพมาตรฐานด้วย

ดร.วิฑูรยํ้าว่าอยากให้มีการแก้ไขคำสั่ง ม.44 โดยขอ 2 เรื่องที่บอกให้ละเว้น พ.ร.บ.วิศวกร เพราะคิดว่ากลไกยังทำงานได้ และให้ระบบปรับตัวเอง หรืออาจจะเพิ่มว่าถ้าอยากให้มีการบังคับกรอบเวลา ก็ให้ระบุ อีกข้อหนึ่ง ให้การกำหนดราคากลาง ขอให้ดำเนินตามกรอบกฎหมายมากกว่าที่จะให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้

P12-3273-5z “อย่ามองแค่ความเร็วในการทำโครงการ แต่ท้ายที่สุดจะทิ้งปัญหาไว้หลายอย่าง งานวิศวกรรมเป็นงานสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน จำเป็นต้องมีวิศวกรและสถาปนิกท้องถิ่นเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก เพราะท้ายสุดเขาจะเป็นผู้ดูแล กลไกนี้สำคัญมาก”

เพราะนอกจากโครงการนี้ ยังมีโครงการรถไฟความเร็วสูงอีกหลายสาย การดำเนินการของโครงการกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ถ้าถูกนำไปปฏิบัติกับโครงการอื่นๆด้วย จะสร้างปัญหาอย่างมากให้กับประเทศ โดยหลักๆ ตอนนี้ผู้รับผิดชอบยังไม่พร้อม ต่างจาก MRT ที่มีความพร้อมในการดูแลระยะยาว รัฐบาลต้องเพิ่มหน่วยงานที่มาดูแลภาพรวมโครงการรถไฟความเร็วทั้งหมดอีก 3-4 เส้นทาง เพราะเท่าที่ทราบมางบลงทุนโครงการมีมูลค่าเท่ากับงบการบำรุงรักษา

**รับเหมาไทยได้อานิสงส์
นายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯสะท้อนว่าขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดที่ชัดเจนว่าใครทำอะไรกรณีรัฐบาลใช้ม.44 กับรถไฟไทย-จีน เนื่องจากติดปัญหาหลายด้าน ทั้งนี้ ในบางกรณี ม.44 ก็มีประโยชน์ แต่ต้องดูความจำเป็นเร่งด่วน อย่างเช่น การแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีม่วงขาดการเชื่อมต่อ 1 สถานีระหว่างสถานีเตาปูนกับบางซื่อ เป็นต้น

P12-3273-2z ฟังแล้วผู้รับเหมาไทยจะได้ประโยชน์ แต่หากจีนบอกว่าทำเอง 100% แน่นอนว่า คงต้องนำคนของเขามา แต่คงไม่มากเป็น 1,000 คน 10,000 คน หรือแม้แต่วัสดุก่อสร้างก็นำมาเองบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะใช้วัสดุในไทย ซึ่งจีนก็อาจมีซัพพลายเองด้วย ส่วนแรงงาน วิศวกร น่าจะนำเข้ามาเฉพาะระดับบริหารในที่สุดจีนจะใช้แรงงานไทยพอควร

“ที่สำคัญมองว่างบก่อสร้าง 1.4 แสนล้านบาท จากงบลงทุนของโครงการ 1.79 แสนล้านบาท ซึ่งเท่ากับสัดส่วน 75% เชื่อว่าไทยได้ประโยชน์ตามที่รัฐบาลระบุว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อรัฐบาลทุ่มเงินก่อสร้างจะเกิดการจ้างงานและเกิดการจับจ่ายหมุนเวียนกลับเข้ามา”

สำหรับบริษัทรับเหมาของไทยที่สามารถทำงานก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงได้ ก็คือบริษัทที่ทำงานถนน เพราะทางรถไฟก็คือถนนที่มีราง สำหรับบริษัทรับเหมาที่ก่อสร้างถนนและขึ้นทะเบียนกับสมาคม มีจำนวนกว่า 100 บริษัท ในจำนวนนี้มี 60 บริษัทเป็นรับเหมารายใหญ่ ที่มีศักยภาพรับงานได้

ในมุมกลับหากจีนต้องเป็นฝ่ายเลือกบริษัทรับเหมา มองว่าไม่น่าจะมีปัญหา เพราะมาตรฐานจะไม่ต่างจากรัฐบาลไทยคัดเลือก เพราะใช้หลักสากลคือ1.มีประสบการณ์ 2.มีเงินทุน 3.มีทุนจดทะเบียน เป็นต้น

สำหรับการตั้งข้อสังเกตหลายฝ่ายที่ว่ารับเหมาไทยจะได้อานิสงส์เฉพาะงานโยธาเท่านั้น เรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน
หากให้ฟันธง จีนจะจ้างคนไทยทำงานคันทางหรืองานใต้ราง ส่วนราง จีนจำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญพิเศษขณะเดียวกัน จะพิจารณามาตรฐานเหล็กเส้นด้วย เพราะรางของรถไฟความเร็วสูงจะมีมาตรฐานสูงกว่ารางรถไฟธรรมดาในบ้านเรา โดยสรุปจีนอาศัยผู้รับเหมาไทยทำงานใต้ราง หรืองานคันทาง ส่วนด้านบนหรือระบบรางจีนทำเองมากกว่า อย่างไรก็ดี หากจีนได้รับยกเว้นภาษีกรณีเหล็กเส้นนำเข้า เชื่อว่า ผู้ประกอบการไทยคงแย่

**ยันเหล็กไทยคุณภาพได้
นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงทางรอดของอุตสาหกรรมเหล็กไทยว่า สิ่งที่จะทำให้ผู้ผลิตเหล็กไม่เสียโอกาสจากโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา นั้น เราจะต้องพิสูจน์ว่าผู้ผลิตไทยสามารถผลิตเหล็กที่มีคุณภาพได้ ซึ่งส่วนนี้ไม่น่าห่วง เพราะปัจจุบันการผลิตเหล็กของไทยได้มาตรฐาน ค่าคาร์บอนในเหล็กไม่เกิน 0.52% ของจีนไม่เกิน 0.5% ที่ผ่านมาโครงการขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดิน และการทางพิเศษฯใช้เหล็กจากผู้ผลิตในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการเหล็กของไทยมีความกังวลหากว่าฝ่ายจีนอ้างราคาเหล็กนำเข้าจากจีนมีราคาถูกกว่า ช่วยลดต้นทุนงานก่อสร้างได้ เพราะราคาเหล็กมีหลายปัจจัยมาเกี่ยวข้อง ซึ่งในส่วนนี้ถ้าเหล็กจากจีนนำเข้ามาโดยใช้ช่องทางปกติ ไม่หลีกเลี่ยงภาษี เราสู้ได้ แต่ถ้านำเข้ามาแบบหลีกเลี่ยงภาษี ต้องกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศแน่นอน

P12-3273-3z โดยโครงการนี้คาดจะใช้เหล็กเส้นจำนวนมาก ประเมินว่าราว 5 แสนตัน ในระยะเวลา 3 ปี เท่ากับว่าความต้องการใช้เหล็กเฉลี่ยปีละประมาณ 2 แสนตัน ที่สำคัญต้องเป็นเหล็กเส้นตามมาตรฐานจีน GB 1499 ซึ่งล่าสุดทางจีนให้มาตรฐานที่เขียนมาเป็นภาษาจีนเรียบร้อยแล้ว

“อยากให้ใช้วัสดุก่อสร้างที่ผลิตในประเทศไทย และอยากให้ภาครัฐมองว่า เรามีความจำเป็นแค่ไหนที่จะต้องใช้เหล็กเส้นที่เป็นมาตรฐานจีน เพราะหากใช้ตามมาตรฐานไทยที่มีอยู่ ผู้ผลิตไทยก็ไม่ต้องมีต้นทุนเพื่อไปผลิตให้ได้ตามมาตรฐานจีนอีก”

นอกจากนี้การที่จีนกำหนดว่าการก่อสร้างเฟสแรกจะเริ่มในเดือนสิงหาคมนี้ โดยจะเริ่มต้นที่ 3 กิโลเมตรแรกก่อน ผู้ผลิตเหล็กของไทยคงไม่พร้อม จะต้องมีขั้นตอนการขออนุญาตในกรณีที่ต้องผลิตเหล็กตามมาตรฐานจีน และยังจะต้องยื่นให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. ตรวจสอบมาตรฐาน ซึ่งต้องใช้เวลาเป็นเดือน ตรงนี้เกรงว่าจะเป็นการเร่งเกินไป และเป็นการเปิดช่องให้การนำเข้า ซึ่งจีนมีสต๊อกรออยู่แล้ว สามารถนำเข้าได้ทันที ถ้าเป็นแบบนี้ก็จะทำให้เหล็กไทยเสียโอกาส

**ปั้นการถ่ายโอนเทคโนโลยี
รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา สภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า โครงการนี้ถ้าจะเกิดต้องก่อให้เกิดการเรียนรู้ มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี ไม่ใช่เพียงส่งวิศวกรไทยทำงานประกบ โดยโมเดลการถ่ายโอนประกอบด้วยองค์กรจากภาครัฐ มหาวิทยาลัยที่มีการสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ องค์กรอิสระ อย่างสภาวิศวกรรมสถานฯ และสภาสถาปนิกฯ ผู้ผลิตวัสดุ และผู้รับเหมาก่อสร้าง มาทำงานร่วมกัน ถึงแม้รัฐจะไม่เห็นด้วย สภาวิศวกรรมสถานฯ ก็ยืนยันจะสร้างโมเดลที่กล่าวมา โดยทำคู่ขนานกันไป ด้วยการดึงทุกส่วนเข้ามาร่วมมือกัน แม้จะได้ข้อมูลไม่มากก็ตาม ก็คิดว่าจะมีประโยชน์

P12-3273-4z “วันนี้เราส่งออก ทั้งงานวิศวกรรม วิศวกรที่ปรึกษา ผู้รับจ้าง ไปทำงานที่บังกลาเทศ และไต้หวัน ยืนยันว่างานวิศวกรที่ปรึกษาของไทยก้าวไปไกลแล้ว”

“นอกจากนั้นในอดีตตอนที่สร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรก ไม่มีใครเชื่อว่าวิศวกรไทยจะสามารถตอกใต้ดินได้ที่ถนนสีลม โดยใช้เทคโนโลยีของจีนและวิศวกรต่างชาติ แต่วันนี้ทุกฝ่ายที่ดำเนินการรถไฟฟ้าใต้ดิน 4-5 สาย ทำโดยคนไทยทั้งหมด”

P12-3273-6z จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,273 วันที่ 25 - 28 มิถุนายน พ.ศ. 2560