เท6.4หมื่นล้านทะลวงอีอีซี ตัด-ขยาย42เส้นทางรองรับขนส่ง-จราจรได้20ปี

28 มิ.ย. 2560 | 02:00 น.
กรมทางหลวงเท 6.4หมื่นล้าน ตัด-ขยายถนน 4-8 เลน 42โครงการ ขีดวงเปิดหน้าดินผุด 2 วงแหวนแปดริ้ว-พนัสนิคม มั่นใจรองรับจราจร-ขนส่งสินค้าได้ 20 ปี เผยงบปี 61เตรียมจ้างผู้รับเหมาลุย 13โครงการ เสร็จภายใน3ปี

นายกมล หมั่นทำ รองอธิบดีกรมทางหลวงเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าขณะนี้กรมอยู่ระหว่างศึกษาโครงการก่อสร้างและขยายเส้นทางสายสำคัญในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี เพื่อเชื่อมระบบโลจิสติกส์และแก้ปัญหาจราจร ที่มีงบต่อเนื่องจากปี 2557-2560 ในจังหวัดชลบุรี และระยองจำนวน 11 โครงการ วงเงิน 5,718 ล้านบาท แต่เมื่อรัฐบาลประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตอีอีซี โดยเพิ่มจังหวัดฉะเชิงเทราเข้ามา จึงนำแผนมาปรับใหม่รวมกับนโยบายรัฐบาล จัดทำแผนโครงการพัฒนาทางหลวงแบบบูรณาการขึ้นมา(ปี 2557-2563) วงเงิน 64,000 ล้านบาทจำนวน 42 โครงการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลักษณะปรับปรุงและขยายถนนที่มีอยู่เดิม จาก 2 ช่องจราจรเป็น 4-8 ช่องจราจรและก่อสร้างสะพานข้ามแยกบริเวณจุดตัด ให้สามารถเดินทางเชื่อมต่อโดยไม่ต้องหยุดรอสัญญาณไฟ ซึ่งโครงข่ายดังกล่าวจะช่วยรองรับปริมาณจราจรในพื้นที่ระยะยาวได้ถึง 20 ปี

แหล่งข่าวจากกรมทางหลวง เปิดเผยว่า สำหรับงบประมาณปี 2561 ที่จะนำมาใช้เร่งด่วน จะเป็นการขยายเขตทางขนาด 2 ช่องจราจรเป็น4ช่องจราจร และ 4 ช่องจราจรเป็น 6-8 ช่องจราจร จำนวน 13 โครงการ วงเงิน 19,251 ล้านบาทที่อยู่ระหว่างพิจารณาร่างงบประมาณ อาทิ ทางหลวงหมายเลข 36 แยกกระทิงลาย-ระยองจาก 4 ช่องจราจรเป็น 6 ช่องจราจรระยะทาง 19 กิโลเมตร แยกเป็น 2 ตอนได้แก่ ตอนแยกต่างระดับเขาไม้แก้ว-แยกมาบข่า ระยะทาง 16.7 กิโลเมตร วงเงิน 1,395 ล้านบาท และตอนแยกมาบข่า-แยกเชิงเนิน รวมสะพานข้ามแยกระยะทาง 24 กิโลเมตรวงเงิน 2,250 ล้านบาท และตอนแยกกระทิงลาย-แยกต่างระดับโป่งระยะทาง 6.9 กิโลเมตรวงเงิน 470 ล้านบาท ขยายทางบริเวณเนินสำลี จาก 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจรรองรับปริมาณจราจรศูนย์ราชการระยอง-นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

โครงการทางหลวงหมายเลข 3 หรือถนนสุขุมวิทช่วงจุดตัดทางเลี่ยงเมือง-จุดตัดทางหลวงหมายเลข 36 ที่จะสร้างสะพานข้ามแยก 7 จุด ซึ่งเป็นของกรมทางหลวง 5 จุด ที่เหลือเป็นของท้องถิ่น ขณะนี้อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นของประชาชน นอกจากนี้ ยังขยายทางหลวงหมายเลข 3 ช่วงบางปู-บางปะกง จาก 2 ช่องจราจรเป็น 4ช่องจราจรขยายเขตทางพนัสนิคม-ฉะเชิงเทรา จาก 2ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 19 กิโลเมตร

[caption id="attachment_168458" align="aligncenter" width="427"] เท6.4หมื่นล้านทะลวงอีอีซี ตัด-ขยาย42เส้นทางรองรับขนส่ง-จราจรได้20ปี เท6.4หมื่นล้านทะลวงอีอีซี ตัด-ขยาย42เส้นทางรองรับขนส่ง-จราจรได้20ปี[/caption]

นอกจากนี้ ยังขยายเขตทางจาก 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร บริเวณทางหลวงหมายเลข 3126 ทางเข้าสนามบินอู่ตะเภา- ท่าเรือจุกเสม็ดซึ่งเป็นท่าเรือเฟอร์รี่ รับนักท่องเที่ยว เชื่อมเข้ากับสนามบิน ระยะทาง 7.7 กิโลเมตร อีกทั้งสะพานลอยข้ามแยกจาก 4 ช่องจราจรเป็น 8 ช่องจราจร ระยะทาง 12 กิโลเมตรเชื่อมเข้าตัวนิคมอุตสาหกรรม

ส่วนโครงการก่อสร้างถนนใหม่ มีเพียง 2 โครงการ ได้แก่ โครงการก่อสร้างถนนวงแหวนฉะเชิงเทราขนาด 4 ช่องจราจร ระยะทาง 50 กิโลเมตร งบประมาณ 13,500 ล้านบาท แต่เบื้องต้นน่าจะสร้างจากทางหลวงหมายเลข 304 วนซ้ายไปบรรจบกิโลเมตรที่ 20 บริเวณบ้านสนามช้าง และโครงการก่อสร้างถนนวงแหวนพนัสนิคมขนาด 4 ช่องจราจรระยะทาง 43 กิโลเมตร วงเงิน 5,600 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงข่ายที่ต้องเวนคืนใหม่ทั้งหมด คาดจะมีผู้ได้รับผลกระทบมากกว่า 100 รายและเสนอของบประมาณก่อสร้างงบประมาณปี 2562

สำหรับงบประมาณปี 2562 มีแผนขยายเขตทางเพิ่มอีก 14 โครงการ วงเงิน 18,445 ล้านบาท และงบประมาณปี 2563 จำนวน 4 โครงการ 20,900 ล้านบาท ซึ่งการก่อสร้างทุกโครงการต้องแล้วเสร็จทยอยใช้เส้นทางไม่เกินปี 2563-2565

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,273 วันที่ 25 - 28 มิถุนายน พ.ศ. 2560