ปุตราจายา เมืองแห่งอนาคต

25 มิ.ย. 2560 | 01:00 น.
MP32-3273-Aa การพัฒนาอย่างต่อเนื่องเกิดขึ้นในทุกช่วงเวลาสำหรับการหมุนของโลก โดยในแต่ละทวีปและทุกภูมิภาคต่างปักหมุดการยกระดับขีดความสามารถของประเทศในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งท่องเที่ยวและด้านอื่นๆอีกหลากหลาย ซึ่งภาพที่เห็นเด่นชัดและมีดินแดนอาณาเขตที่ใกล้กับเรา คือ ชาติในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่าง “มาเลเซีย” ที่เริ่มดำเนินการจัดการผังเมืองสร้างศูนย์กลางราชการและงานบริหารไว้ในเมืองเดี่ยวที่ “ปุตราจายา” เมืองแห่งอนาคตและความทันสมัยที่สุดของมาเลเซีย

MP32-3273-7 “ปุตรา แปลว่า เทพบุตร จายา แปลว่า เมือง ปุตรจายา เมืองแห่งเทพบุตร” ปุตราจายาเกิดขึ้นจากความตั้งใจและวิสัยทัศน์อันยาวไกลของอดีตนายกรัฐมนตรี ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด ในการสร้างเมืองใหม่ไว้สำหรับเป็นศูนย์กลางในด้านการบริหารประเทศและสร้างความสมดุลสำหรับการเจริญเติบโตที่รวดเร็วของกัวลาลัมเปอร์ซึ่งมาพร้อมกับปัญหาการจราจรที่ติดขัด ไม่เพียงเท่านั้นเมืองดังกล่าวยังเป็นโมเดลที่สำคัญในการจัดผังเมืองรัฐต่างๆของมาเลเซียในอนาคตต่อไป อย่างไรก็ดีสำหรับชื่อเมืองนั้นมีความหมายและนัยยะที่ลึกซึ้งถึงการสรรเสริญและยกย่องการดำเนินงานของนายกรัฐมนตรีคนที่หนึ่งของมาเลเซีย ผู้ซึ่งเป็นบิดาแห่งประเทศมาเลเซียหรือ Bapa of Malaysia “ตนกู อับดุล ระห์มัน”

MP32-3273-6 ปัจจุบันปุตราจายามีเนื้อที่ประมาณ 5,000 ไร่ มีประชากรประมาณ 300,000 คน โดยส่วนใหญ่ผู้อยู่อาศัยเป็นพนักงานราชการ รัฐวิสาหกิจ โดดเด่นด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมที่ครบครัน เชื่อมโยงการติดต่อทางธุรกิจที่สะดวกสบายเพราะอยู่ห่างจากสนามบินและเมืองหลวงเพียง 20-25 กม. เป็นที่ตั้งของกระทรวง ที่ทำการของรัฐบาล สถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา ศูนย์การค้า สนามกีฬา สวนสาธารณะ และอาคารที่อยู่อาศัย

MP32-3273-5 “งดงามด้วยสถาปัตยกรรม”ไม่เพียงแต่ความสำคัญด้านการบริหารบ้านเมือง เมืองเทพบุตรแห่งนี้ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงการเรียนรู้ในมิติของสถาปัตยกรรมผ่านสิ่งปลูกสร้างอันงดงามหลากหลายด้านเช่น มัสยิด ทำเนียบรัฐบาล และสะพาน ยกตัวอย่างเช่น มัสยิดปุตราหรือมัสยิดสีชมพู (Putra Mosque) ศูนย์รวมจิตใจของชาวอิสลามที่มุ่งเน้นการออกแบบและตกแต่งด้วยโทนสีชมพูทั้งอาคารและยอดโดม โดยจุดสูงสุดของมัสยิดมีความสูงเทียบเท่าตึกประมาณ 25 ชั้น สร้างความสง่างามให้กับมัสยิดหลังนี้ได้อย่างเด่นชัด เป็นสถาปัตยกรรมอิสลามที่ดูแล้วทันสมัย สวยงาม ไม่เพียงเท่านั้นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กที่สำคัญคือ ทำเนียบรัฐบาลหรือ เปอร์ดานาปุตรา (Perdana Putra) อาคารที่ทำการคณะรัฐมนตรีซึ่งออกแบบในสไตล์อิสลาม ส่วนยอดบนมีลักษณะคล้ายรูปโดมของมัสยิดซึ่งตกแต่งด้วยโทนสีเขียวธรรมชาติ ด้านอาคารได้รับอิทธิพลการออกแบบมาจากตะวันตกผสมผสานกับรูปแบบของมลายูและอิสลาม แยกออกเป็น 3 ปีกตกแต่งด้วยเฉดสีน้ำตาลอ่อน สามารถให้อารมณ์ละความรู้สึกที่หนักแน่น แข็งแรง และมีพลัง เป็นฐานที่มั่นในการหลอมรวมความคิดและองค์ความรู้ต่างๆสู่การพัฒนาประเทศต่อไป

MP32-3273-1 ทั้งนี้สำหรับสถาปัตยกรรมด้านสะพานมีทั้งหมด 5 แห่ง ยกตัวอย่างเช่น สะพานปุตรา ( Putra Bridge) ส่วนเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างเขตรัฐบาลกับหน่วยงานราชการต่างๆ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสถาปัตยกรรมแบบอิสลามของสะพานคาจูในเมืองอิศฟาฮาน ประเทศอิหร่าน ถัดมาพบกับสะพานเสรีวาวาซาน (Seri Wawasan Bridge)สะพานคอนกรีตที่ออกแบบอย่างทันสมัย มีความแข็งแรงสูงจากเคเบิลและโครงสร้างเหล็ก ซึ่งในช่วงเวลากลางคืนสะพานแห่งนี้จะส่องสว่างด้วยโทนสีที่หลากหลายเป็นจุดนัดพบการชมสถาปัตยกรรมอิสลามแบบผสมผสานในทุกวันได้อย่างสุขใจ

MP32-3273-3 นอกจากความงดงามด้านสถาปัตยกรรม ศิลปะและสิ่งปลูกสร้าง ปุตราจายาได้ถูกตั้งเป้าให้เป็น “เมืองในสวน” ด้วยการออกแบบและตกแต่งพื้นที่กว่า 600 เฮคตาร์ให้เป็นสวนสาธารณะ โดยรายล้อมไปด้วยทะเลสาบอันแสนสงบขนาดกว้างใหญ่ที่ถูกขุดขึ้นเพื่อสร้างภูมิทัศน์ของเมืองให้ดูงดงามและน่าอยู่อาศัยในทุกตารางกิโลเมตร ทำให้ปุตราจายาแห่งนี้พร้อมเป็นเมืองแห่งอนาคตที่เหมาะสำหรับการจัดงานเฉลิมฉลอง เดินพาเหรด ตลอดจนรัฐพิธีต่างๆ ได้อย่างภาคภูมิใจ

MP32-3273-4 ภาพความเจริญทางด้านเศรษฐกิจกับความงอกงามทางด้านวัตถุถูกนำมาจัดการและหลอมรวมให้เป็นเอกภาพด้วยการบูรณาการของมนุษย์ ซึ่งสามารถยกระดับภาพรวมของประเทศให้มีความพร้อมต่อการแข่งขัน สนับสนุนการจัดการด้านบริหารอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนผสมผสานและรังสรรค์ความงดงามด้านศิลปะ วัฒนธรรม ธรรมชาติ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของลมหายใจ ปุตราจายา เมืองแห่งอนาคตของอาเซียน

[caption id="attachment_168276" align="aligncenter" width="503"] ปุตราจายา เมืองแห่งอนาคต ปุตราจายา เมืองแห่งอนาคต[/caption]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,273 วันที่ 25 - 28 มิถุนายน พ.ศ. 2560