EA เบอร์1ชาร์จไฟรถ ซุ่มร่วมทุนจีน-เปิดสถานีแรก E Anywhere ก.ค.นี้

24 มิ.ย. 2560 | 02:00 น.
EA ซุ่มเปิดสถานีชาร์จไฟรถยนต์ ระหว่างทางรอแบตเตอรี่เก็บไฟฟ้าแสนล้านบาท ประเดิมก.ค.นี้ สถานีแรก สยามสแควร์ และสยามพารากอน นำร่อง 6 หัวชาร์จ ถึง 100 หัว ตั้งเป้าปี 2561 ติดตั้งหัวชาร์จ 1 พันหัว รอบกรุงเทพฯ-ปริมณฑล

แหล่งข่าววงการพลังงาน เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ฯ หรือ EA เตรียมเปิดสถานีชาร์จแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์แห่งแรกในประเทศที่ห้างสรรพสินค้าสยามสแควร์ และสยามพารากอน ในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยทดลองสถานีละ 6 หัวชาร์จ หากความต้องการสูงสามารถขยายหัวชาร์จได้ทันทีสถานีละ 50 หัวชาร์จ รวม 2 สถานี 100 หัวชาร์จ เป้าหมายปี 2561 ตั้งไว้ 1,000 หัวชาร์จ ในรอบกรุงเทพฯและปริมณฑล

สำหรับสถานีชาร์จไฟรถยนต์นี้ เปิดตัวในชื่อ E Anywhere (อี-เอนี่แวร์) ซึ่งความหมาย และคอนเซ็ปต์คือ สถานี ทุกๆ แห่ง ในรัศมี 3,000 ตารางกิโลเมตร จะมีสถานีชาร์จไฟ หรือนึกถึงเมื่อไร 5 นาที จะเห็นสถานีชาร์จไฟฟ้า

[caption id="attachment_168180" align="aligncenter" width="426"] EA เบอร์1ชาร์จไฟรถ ซุ่มร่วมทุนจีน-เปิดสถานีแรก E Anywhere ก.ค.นี้ EA เบอร์1ชาร์จไฟรถ ซุ่มร่วมทุนจีน-เปิดสถานีแรก E Anywhere ก.ค.นี้[/caption]

แหล่งข่าวกล่าวว่า การเปิดสถานีชาร์จไฟฟ้า เป็นการร่วมทุนระหว่าง EA และบริษัทจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตและติดตั้งสถานีชาร์จรถไฟฟ้าของจีน สัดส่วนร่วมทุน EA และบริษัทจีน 45: 55 โดย EA ถือหุ้นน้อยกว่า เนื่องจากต้องการให้บริษัทร่วมทุนจีน เป็นทั้งผู้ผลิต การถ่ายทอดเทคโนโลยีจากจีน และบุคลากรเก่งๆ เข้ามาให้ EA ด้วย

“บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ฯ ถือเป็นบริษัทเอกชนแห่งแรกของไทย ที่ลงทุนเปิดสถานีชาร์จไฟรถยนต์ หากไม่มีสถานีชาร์จไฟ รถไฟฟ้าก็ไม่เกิดในประเทศไทย เหมือน ไก่ กับไข่ น่าจะเป็นธุรกิจระหว่างทางรอธุรกิจแบตเตอรี่เก็บพลังงานไฟฟ้า ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า การกำหนดรูปแบบสถานีชาร์จไฟรถยนต์ ที่จะขยายออกไปยังรอบเมืองหรือต่างจังหวัด จะมีทั้งการเช่าสถานที่ เพื่อติดตั้งหัวชาร์จไฟฟ้า ไม่ใช้สถานที่ในปั๊มนํ้ามัน มีทั้งการเช่าที่ หรือร่วมทุนกับเจ้าของที่ดิน โดยแบ่งกำไร ซึ่ง EA จะกำหนดกำไรตามต้องการ ส่วนผลประโยชน์เจ้าของที่ได้ตามการปรับขึ้นหรือลง ตามกลยุทธ์การขาย หรือปริมาณความต้องการของลูกค้า และการให้บริการอื่นๆ เช่น ร้านกาแฟ ร้านสะดวกซื้อ ประเภทการชาร์จและระยะเวลาชาร์จ จะมีแบบชาร์จไฟเร็ว 20-30 นาที ซึ่งราคาจะสูงเล็กน้อย จากการชาร์จ 1 ชั่วโมง

“ธุรกิจชาร์จไฟฟ้ารถยนต์นี้ ทำเพื่อให้ EA มีธุรกิจต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เป็นผู้ให้บริการชาร์จรถไฟฟ้า กระทั่งเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่เก็บไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจปลายทางที่มีมูลค่าแสนล้านบาท เอื้อสถานีชาร์จไฟฟ้าด้วย การทำธุรกิจของ EA ถือว่าอยู่ในช่วงยุทธศาสตร์ของไทย และทันกับเทรนด์การทำแบต เตอรี่เก็บไฟฟ้า” แหล่งข่าวกล่าว

ส่วนความคืบหน้า การตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่เก็บไฟฟ้าว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการหาที่ดินสร้างโรงงาน ในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) คาดดำเนินการผลิตเฟสแรก 1 GWh ต้นปี 2562 ส่วนเฟสที่ 2 ขนาด 49 GWh เริ่มผลิตราวปี 2564

ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทย ที่แตกธุรกิจมาทำแบตเตอรี่ นอกจาก EA แล้ว ยังมีบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เข้าถือหุ้นใหญ่ 18.6% ในบริษัท 24M Technologies Inc. (24M) เพื่อได้รับสิทธิในการผลิตและขายแบตเตอรี่ในกลุ่มประเทศ ASEAN โดยใช้เทคโนโลยีของ 24 M โดยบริษัทดังกล่าวทำงานวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่ เพื่อใช้ในระบบกักเก็บไฟฟ้าสำรอง สำหรับภาคอุตสาหกรรม และระบบสายส่งไฟฟ้า เพื่อการเสริมสร้างความมั่นคงในระบบจ่ายไฟฟ้า ระบบโครงข่ายไฟฟ้า และผู้ใช้ไฟฟ้า

นอกจากนี้บริษัท บีซีพีจีฯ (BCPG) ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ อยู่ระหว่างศึกษาการผลิตแบตเตอรี่เก็บไฟฟ้าสำหรับใช้ในบ้าน และเพื่อขาย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,272 วันที่ 22 - 24 มิถุนายน พ.ศ. 2560