ทางออกนอกตำรา : สองมาตรฐาน เอื้อคิงเพาเวอร์

21 มิ.ย. 2560 | 10:18 น.
ทางออกนอกตำรา

โดย : บากบั่น บุญเลิศ 

สองมาตรฐาน เอื้อคิงเพาเวอร์


มหากาพย์แห่งรากเหง้าของปัญหาการเอื้อประโยชน์ให้กับ บริษัท คิงเพาเวอร์ ของเจ้าสัววิชัย ศรีวัฒนประภา มหาเศรษฐีอันดับ 3 ของประเทศไทย ผู้ใช้เวลาสร้างเนื้อสร้างตัวจากธุรกิจดิวตี้ฟรีเพียงแค่เวลาไม่ถึง 25 ปี ที่หน่วยงานของรัฐเพิกเฉยในการปฏิบัติหน้าหน้าที่ยังไม่จบเพียงแค่การเปิดทางให้มีการขายแบบ ”Pre-order” ที่มีการดำเนินการในรูปแบบ “ซื้อของขาออกในเมือง-มารับของขากลับ” ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 3 ตอบข้อหารือของกรมศุลกากรไปตั้งแต่ปี 2548 ว่า มีการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายศุลกากร และไม่มีกฎหมายรองรับ

600x450_BM1Q0I9G00D80005

แต่กาลเวลาล่วงเลยมาจวบจนปัจจุบันยังมีการเปิดให้ดำเนินการเยี่ยงปกติ...

แน่นอนว่าปัญหานี้ย่อมนำมาซึ่งการสูญเสียประโยชน์ของรัฐจำนวนมหาศาล และเสียหลักการของ “ดิวตี้ฟรี” ที่มีเป้าหมายหลักเพื่อการขายสินค้าให้นักท่องเที่ยวมาซื้อสินค้าและขนของออกนอกราชอาณาจักร

ที่สำคัญยังเป็นการทำลายธุรกิจค้าปลีกของประเทศให้ย่อยยับลง และเกิดการค้าขายที่เป็นสองมาตรฐาน

กลุ่มหนึ่งอันประกอบด้วย เดอะมอลล์ เซ็นทรัล พารากอน สยามดิสคอฟเวอรี่ เทสโก้โลตัส ยันบิ๊กซี เสียภาษีนำเข้า และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับรัฐแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย....
กลุ่มหนึ่ง นำทีมโดยคิงเพาเวอร์รายเดียว ขายสินค้าแบบไม่เสียภาษีสักบาทนอกจากภาษีนิติบุคคล

การเพิกเฉยในการดูแลธุรกิจดิวตี้ฟรีของหน่วยงานรัฐได้สร้างมาตรฐานการปฏิบัติ และทัศนคติของหน่วยงานราชการ ที่”เอื้อประโยชน์ให้เอกชน”จนเป็นปกติไปแล้ว

แม้ว่าเรื่องนี้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะทักทวงและขอให้พิจารณา แต่จนบัดนี้ยัไม่มีวี่แววว่าจะมีการแก้ไข...สุดท้ายปลายทางน่าจะถึงมือศาล....ในไม่ช้า

kpipk_pics_021

ประเด็นต่อมาที่กำลังกลายเป็น “แผลใหญ่” ให้หน่วยงานราชการ ซึ่งก็คือกรมศุลกากร บริษัทท่าอากาศยานไทย ต้องเหงื่อตกและอาจมีคนต้องสังเวยความผิด คือการที่คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยมายาวนานว่า การเปิดทางให้บริษัท คิงเพาเวอร์ฯ กำหนดจุดส่งมอบสินค้าของร้านค้าปลอดอากรขาออก บริเวณ (ประตู 3) ในสนามบินสุวรรณภูมิ โดยไม่มีกฎหมายรองรับ
เพราะหากยึดตามประกาศกรมศุลกากรที่ 20/2549 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2549 เรื่องระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับร้านค้าปลอดอากร ข้อ 6.3.3 ที่กำหนดเงื่อนไขของร้านค้าปลอดอากรขาออกในเมืองเขียนไว้ชัดเจนว่า...

"ให้ขายของแก่ผู้ซื้อที่จะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร โดยมีหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) และหลักฐานประกอบการเดินทาง เช่น บัตรโดยสารเครื่องบิน หรือเอกสารอันใด ซึ่งใช้ยืนยันกำหนดการเดินทางที่ชัดเจน เป็นต้น ให้ปฏิบัติดังนี้
(1)กรณีส่งมอบของให้ผู้ซื้อนำติดตัวไปพร้อมกับตน
(2) กำหนดให้ร้านค้าปลอดอากรขาออกในเมืองมีจุดส่งมอบสินค้า โดยได้รับความเห็นชอบจากกรมศุลกากร
แต่สำหรับร้านค้าปลอดอากรขาออกในสนามบิน ไม่มีการกำหนดจุดส่งมอบสินค้า การกระทำจึงขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของการกำหนดจุดส่งมอบสินค้าที่กำหนดให้ เฉพาะร้านค้าปลอดอากรในเมืองใช้เป็นจุดส่งมอบสินค้า จึงเป็นการดำเนินการโดยไม่มีกฎหมายรองรับ "

20150826101013

ประเด็นนี้กรมศุลกากรได้เคยหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า กรณีกรมศุลกากรอนุญาตให้ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ซื้อของส่วนตัวสำหรับใช้เองหรือใช้ในวิชาชีพ และมีจำนวนพอสมควรแก่ฐานะ จากร้านค้าปลอดอากรตามระเบียบที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนด โดยถือว่าเป็นของส่วนตัวที่เจ้าของนำเข้ามาพร้อมกับตนสำหรับใช้เอง หรือใช้ในวิชาชีพและมีจำนวนพอสมควรแก่ฐานะ ที่ได้รับยกเว้นอากรตามภาค 4 ประเภท 5 แห่ง พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 นั้น เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

14092303911409230407l

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 3) ได้พิจารณาข้อหารือของกรมศุลกากรแล้วมีความเห็นว่า สินค้าที่จะได้รับการยกเว้นอากรตามภาค 4 ประเภท 5 แห่ง พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ต้องเป็นของส่วนตัวที่เจ้าของนำเข้ามาพร้อมกับตน (นำติดตัวมา) สำหรับใช้เองหรือใช้ในวิชาชีพ และมีจำนวนพอสมควรแก่ฐานะ ยกเว้นรถยนต์ อาวุธปืนและกระสุนปืน และเสบียง ส่วนสุรา บุหรี่ ซิการ์ หรือยาเส้น ซึ่งเป็นของส่วนตัวที่ผู้เดินทางนำติดตัวมานั้น อธิบดีกรมศุลกากรอาจออกข้อกำหนดยกเว้นอากรให้ได้ตามที่เห็นสมควร

แต่สินค้าที่ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรซื้อจากร้านค้าปลอดอากร เป็นสินค้าที่ผู้เดินทางซื้อจากร้านค้าปลอดอากรหลังจากที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรแล้ว สินค้าดังกล่าวจึงไม่ใช่ของส่วนตัวที่ผู้เดินทางนำติดตัวเข้ามาในราชอาณาจักร แม้ว่าจะเป็นสินค้าที่ซื้อมาจากร้านค้าปลอดอากร สำหรับใช้เองหรือใช้ในวิชาชีพ และมีจำนวนพอสมควรแก่ฐานะก็ตาม


King-Power-Duty-Free

เมื่อไม่ได้เป็นของส่วนตัวที่ผู้เดินทางนำติดตัวเข้ามาในราชอาณาจักร สินค้าที่ซื้อจากร้านค้าปลอดอากรจึงไม่ใช่สินค้าตามภาค 4 ประเภท 5 แห่ง พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ที่จะได้รับยกเว้นอากร

การตีความเช่นนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2548 แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2548 นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลงนามประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเรื่องการลดอัตราอากรและการยกเว้นอากรศุลกากร ฉบับที่ 28 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 วรรค 1 เว้นให้โดยอ้างว่า เพื่อประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ  โดยระบุว่า ของไม่ว่าจะอยู่ในพิกัดประเภทใดที่ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรซื้อจากคลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับแสดงและขายของ (ร้านค้าปลอดอากร) ที่เก็บไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บนนั้น ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรที่ตั้งอยู่ในสนามบินศุลกากร ให้ได้รับยกเว้นอากร

112

คำถามที่ตามมาคือ...การยกเว้นให้ซื้อของเข้ามาในราชอาณาจักรนี้ถูกต้องหรือไม่....เพราะตามระเบียบของกรมศุลกากรนั้น กำหนดเงื่อนไขในเรื่องร้านค้าในเมืองเท่านั้น ไม่มีเงื่อนไขร้านค้าในสนามบิน หรือบริเวณปากประตูทางออกแม้แต่นิดเดียว
และปัจจุบันเจ้าหน้าที่ศุลกากรใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติเกี่ยวกับร้านค้าปลอดอากรเรื่อยมา โดยไม่สนใจคำวินิจฉัยของกฤษฎีกาแม้แต่นิดเดียว....

อลัมน์ : ทางออกนอกตำรา/หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ /ฉบับ 3272 ระหว่างวันที่ 22-24 มิ.ย.2560
ติดตาม “ฐานเศรษฐกิจ” สามารถดาวน์โหลด ไว้อ่านได้ ใน E-Book เเล้ว ผ่านเเอพพลิเคชั่น QR Code, app store, google play,ookbee

ookbee

appstore-googleplay