ดึงเอสเอ็มอี 35 รายสร้างโอกาสลงทุนที่ตาก

21 มิ.ย. 2560 | 07:36 น.
 

บีโอไอนำคณะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย 35 ราย สร้างเครือข่ายทางธุรกิจ ลงพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ อ.แม่สอด จ.ตาก  พร้อมศึกษาเส้นทางโลจิสติกส์ ไทย เมียนมา และอินเดีย มั่นใจปูทางโอกาสขยายตลาดเชื่อมประเทศเพื่อนบ้าน

นายเจษฎา ศรศึก ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาปัจจัยสนับสนุนการลงทุนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไออยู่ระหว่างเดินหน้าตามแผนงานส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ให้มีโอกาสสร้างเครือข่ายทางธุรกิจเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและสามารถต่อยอดธุรกิจไปสู่การผลิตซึ่งรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สอดคล้องกับนโยบาย“ประเทศไทย  4.0”ของรัฐบาล

ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 17-21 กรกฎาคม 2560  บีโอไอจะนำคณะเอสเอ็มอี จำนวน 35 ราย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการในกลุ่มผู้ผลิตสินค้าเกษตรแปรรูป สิ่งทอ พลาสติก และวัสดุก่อสร้าง ร่วมเดินทางไปจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงธุรกิจกับผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในพื้นที่จ.สุพรรณบุรี จ.กำแพงเพชร เช่นบริษัทไทยเอ็นเนอร์ยี่คอนเซอร์เวชั่นจำกัดผู้ผลิตอุปกรณ์พลังงานและระบบบำบัดน้ำเสียให้กับอาคารโรงงานอุตสาหกรรมบริษัทโหย่งจิ้งอินเตอร์เนชั่นแนลจำกัดผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มเป็นต้น

นอกจากนี้ยังจะได้เข้าสำรวจพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ อ.แม่สอดจ.ตากและรับฟังบรรยายสรุปภาวะการค้าชายแดน และความคืบหน้าในการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

นายเจษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะเอสเอ็มอี จะได้เข้าไปศึกษาศักยภาพเศรษฐกิจการค้าการลงทุนของจังหวัดเมียวดี ในสหภาพเมียนมา  และสำรวจเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมระหว่างอ.แม่สอดของประเทศไทย ไปยังประเทศเมียนมา และอินเดีย  ซึ่งเป็นเส้นทางที่รัฐบาลของแต่ละประเทศให้ความสำคัญ และคาดการณ์ว่า เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเป็นเส้นทางเชื่อม 3 ประเทศและสนับสนุนนโยบาย “มองตะวันออก”(Look East Policy) ของอินเดียที่ต้องการเข้ามาค้าขายและลงทุนในไทยและอาเซียน ในขณะที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาค และได้ใช้ประโยชน์จากเส้นทางนี้เพื่อขยายการค้าการลงทุนไปยังเมียนมาและอินเดียและเชื่อมต่อไปยังตะวันออกกลางต่อไป

“กิจกรรมครั้งนี้ จะทำให้เอสเอ็มอีไทยได้ลงพื้นที่จริงเพื่อศึกษาลู่ทางการลงทุนและขยายตลาดสินค้าเพื่อรองรับการพัฒนาของทั้ง 3 ประเทศ  ซึ่งปัจจุบันสินค้าไทยมีโอกาสค่อนข้างมาก เนื่องจากประชากรของเมียนมาและอินเดียมีความนิยมสินค้าไทย ทั้งด้านคุณภาพและราคาที่สมเหตุสมผลโดยเมื่อโครงการก่อสร้างเส้นทางดังกล่าวแล้วเสร็จ ในอีก 1-2 ปีข้างหน้ามั่นใจจะทำให้เอสเอ็มอีไทยขยายตลาดและวางแผนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมได้อีกมาก” นายเจษฎา กล่าว