เคาะภาษีพีพีวี-ปิกอัพไฮบริดลง2%....ลุ้น“มิว-เอ็กซ์ ฟอร์จูนเนอร์”ใช้สิทธิ์

21 มิ.ย. 2560 | 05:03 น.
วานนี้ (20 มิ.ย.) ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องลดภาษีสรรพสามิตให้รถยนต์ไฮบริดและพลังงานไฟฟ้า(อีวี)  ในส่วน “ปิกอัพ ดับเบิลแค็บ”และ “พีพีวี” หากใช้ขุมพลังลูกผสม พิกัดเครื่องยนต์ไม่เกิน 3,250 ซีซีกับมอเตอร์ไฟฟ้า ปล่อยไอเสียต่ำกว่า 175 กรัม./กม. ให้ลดภาษีลงมาอีก 2%  ลุ้น “อีซูซุ” ยื่นขอรับสิทธิ์ส่งเสริมการลงทุนทำ“มิว-เอ็กซ์” ดีเซลไฮบริด

press kit 4-11-16 ตามที่นสพ.ฐานเศรษฐกิจเคยรายงานข่าว “อีซูซุเล็งดีเซลไฮบริด จัดปิกอัพ-พีพีวีรับแต้มต่อภาษี” ไปเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รายละเอียดว่า กระทรวงการคลังเล็งสนับสนุนปิกอัพไฮบริดตัวถังดับเบิลแค็บ ที่ปล่อยไอเสียต่ำกว่า 175 กรัม/กม.จะลดการเก็บภาษีจาก 12%เหลือ 10% เช่นเดียวกับพีพีวีจาก 25% จะลดเหลือ 23%

ล่าสุดประกาศของกระทรวงการคลังยืนยันว่า ให้รถยนต์นั่งกึ่งบรรทุก  (Pick - up  Passenger  Vehicle:  PPV)  ที่มีความจุกระบอกสูบไม่เกิน  3,250 ซีซี และเป็นรถยนต์แบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้า  (Hybrid  Electric  Vehicle)  ซึ่งมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 175  กรัม/กิโลเมตร  ได้รับการลดอัตราภาษีสรรพสามิตลงเหลือร้อยละ 23

ขณะที่รถยนต์นั่งที่มีกระบะ  (Double  Cab) ความจุกระบอกสูบไม่เกิน  3,250 ซีซี และเป็นรถยนต์แบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิง และไฟฟ้า  (Hybrid  Electric  Vehicle)  ซึ่งมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 175  กรัม/กิโลเมตร  ได้รับการลดอัตราภาษีสรรพสามิตลงเหลือร้อยละ  10  ทั้งนี้ รถยนต์ดังกล่าวต้องมีคุณลักษณะและเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด

โดยการลดอัตราและยกเว้นภาษีสรรพสามิตดังกล่าวบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข  ดังนี้

1.ต้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า  จากสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

2.ต้องยื่นหนังสือแจ้งความประสงค์ขอรับการลดอัตราภาษีสรรพสามิต  และทําข้อตกลงกับ กรมสรรพสามิตก่อนเริ่มการผลิตรถยนต์แบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้า  (Hybrid  Electric  Vehicle)  หรือรถยนต์แบบพลังงานไฟฟ้า  (Electric  Powered  Vehicle) ภายในวันที่ 31  ธันวาคม  พ.ศ.2563

3.ตั้งแต่ปีที่ 5 นับแต่วันที่ลงนามในข้อตกลงกับกรมสรรพสามิตจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม  พ.ศ.2568  รถยนต์แบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้า  (Hybrid  Electric  Vehicle)  หรือ รถยนต์แบบพลังงานไฟฟ้า  (Electric  Powered  Vehicle)  ที่ผลิตทุกคัน  ต้องใช้แบตเตอรี่ที่ผลิต หรือประกอบจากผู้ที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนประเภท ลิเธียมไอออน  หรือนิกเกิลเมทัลไฮไดรด์  หรือแบตเตอรี่ประเภทอื่นที่ให้พลังงานจําเพาะโดยน้ำหนัก  (Wh/kg) ที่สูงกว่าประเภทลิเธียมไอออนหรือนิกเกิลเมทัลไฮไดรด์

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นปิกอัพหรือพีพีวีไฮบริด ยังไม่มีการยืนยันออกมาจากอีซูซุ แต่ “โทชิอากิ มาเอคาวะ” กรรมการผู้จัดการบริษัท ตรีเพชรอีซูซุ เชลส์ จำกัด เคยตอบคำถามผู้สื่อข่าวในงานบางกอกมอเตอร์โชว์ 2017 ไว้ว่า จากแนวทางสนับสนุนรถยนต์อีวี-ไฮบริดของรัฐบาล ทางอีซูซุมีความสนใจเพราะมีเทคโนโลยีอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามยังไม่ได้มีการตัดสินใจอะไรเพราะต้องดูนโยบายเงื่อนไขต่างๆจากภาครัฐก่อน

Toyota Fortuner TRD ส่วนโตโยต้ามีสิทธิ์พัฒนา “ฟอร์จูนเนอร์” ไฮบริดเช่นกัน(น่าจะเป็นเครื่องยนต์เบนซิน) ตามแผนงานระดับโลกที่ต้องการเพิ่มเทคโนโลยีไฮบริดในรถยนต์ที่เป็นคอมมอนโปรดักต์ ซึ่งสอดคล้องกับการลงทุนระลอกใหม่ในเมืองไทย