ข้าพระบาท ทาสประชาชน : พรรคการเมือง กับ บริษัท มหาชน จำกัด

20 มิ.ย. 2560 | 12:45 น.
ข้าพระบาท ทาสประชาชน 
โดย : ประพันธุ์ คูณมี

พรรคการเมือง กับ บริษัท มหาชน จำกัด
275682

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2560 ได้มีการพิจารณาพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ...ในวาระที่ 2 และ 3 ซึ่งหากผ่านความเห็นชอบของสภาดังกล่าวแล้ว ก็จะมีการประกาศใช้เพื่อเป็นกฎหมาย บังคับให้พรรคการเมืองทั้งหลายที่จะลงเลือกตั้งในปีหน้า ต้องถือปฏิบัติเป็นกติกาใหม่ในยุคปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะการที่ต้องมี “ไพรมารีโหวต” คือให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการคัดเลือกบุคคลลงสมัคร ส.ส.เพื่อให้พรรคพ้นจากการครอบงำของทุนพรรคการเมืองทั้งหลายที่จัดตั้งขึ้นมา ย่อมมีเป้าหมายอาสาตัวเสนอบุคคลที่เป็นสมาชิกพรรค ลงแข่งขันให้ประชาชนเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส) ไม่ว่าแบบแบ่งเขต หรือแบบบัญชีรายชื่อ

ส.ส.หรือผู้แทนเหล่านั้นก็ไปโหวตยกมือเลือกหัวหน้าพรรคของตน หรือบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดตั้งรัฐบาล เป็นผู้กำหนดชะตากรรมของบ้านเมือง บริหารประเทศ บังคับบัญชาข้าราชการทุกกระทรวงและกรม กอง กำหนดการใช้จ่ายเงินงบประมาณทั้งแผ่นดิน เป็นตัวแทนของประเทศที่จะทำความตกลงใดๆ กับทุกประเทศในโลกนี้ ทรัพย์ในดินสินในน้ำสมบัติของประชาชนทั้งหลายร่วมกัน ก็ตกอยู่ในอำนาจบริการจัดการของคณะรัฐมนตรี รวมถึงอำนาจและผลประโยชน์อื่นๆ ของประเทศและประชาชน ตกอยู่ภายใต้อำนาจบริหารของรัฐบาล ด้วยความไว้วางใจของประชาชน ผ่านกระบวนการการเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ พรรคการเมืองจึงเป็นกลไกสำคัญ นอกจากนี้ ส.ส.ยังมีอำนาจในทางนิติบัญญัติ ในการพิจารณาตรากฎหมายออกมาบังคับประชาชน ควบคุม และตรวจสอบการทำงานฝ่ายบริหารแทนประชาชนอีกด้วย

PNPOL600615001001901_15062017_073724

พรรคการเมืองจึงเป็นต้นธารอันสำคัญของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เป็นองค์กรที่จะคัดเลือกบุคคลเข้าสู่อำนาจทางการเมือง เพื่อใช้อำนาจนั้นแทนประชาชน จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ความมีคุณภาพในการทำงาน และการบริหารจัดการที่ดี ของคณะบุคคลผู้บริหารพรรคและสมาชิกพรรคที่มีความรู้ ความสามารถ ความซื่อสัตย์ มีอุดมการณ์ที่น่าเลื่อมใสศรัธา และน่าไว้วางใจ ย่อมเป็นปัจจัยสำคัญที่จำเป็นควรจะมีอยู่ในแต่ละพรรคการเมือง หากพรรคการเมืองใดไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎกติกาและมาตรฐานที่ควร จำต้องมีกลไกที่มีประสิทธิภาพมาควบคุม ตรวจสอบ แก้ไขและดำเนินการ เพื่อไม่ให้พรรคการเมืองนั้นๆก่อความเสียหายที่ร้ายแรงแก่ประเทศชาติและประชาชน หรือทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน โดยเอาอำนาจที่ได้จากประชาชน ไปใช้เพื่อประโยชน์ตนและพวกพ้องโดยมิชอบ

เช่น อดีตที่ผ่านมา ความเสียหายแก่ประเทศชาติจากการเมืองที่ผ่านมา เกิดจากตัวพรรคการเมือง และระบบการเมืองกับกลไกที่ควบคุมกำกับ ซึ่งก็มี กกต.เป็นกลไกหลัก ความสำเร็จหรือล้มเลวของกระบวนการเลือกตั้ง วัดได้จากผลงานของ กกต.ด้วยเช่นกัน

หันดูปัญหาในทางธุรกิจ บริษัทมหาชนจำกัด ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นตลาดSET หรือMAI มีลักษณะคล้ายกันโดยการเปรียบเทียบ ระหว่างพรรคการเมืองกับบริษัทมหาชนจำกัด เพราะบริษัทมหาชนก็เริ่มต้นจากผู้ถือหุ้นที่เป็นผู้เริ่มก่อการ ด้วยทุนประเดิมเริ่มต้นและดำเนินกิจการด้วยคณะบุคคลจำนวนหนึ่ง

ในระยะเริ่มแรก เมื่อประสงค์จะขยายกิจการให้ใหญ่โตขึ้น และมีความจำเป็นต้องระดมเงินทุนจากประชาชนจำนวนมากในตลาดหลักทรัพย์ ก็ถูกบังคับโดยกฎเกณฑ์ของตลาดและกฎหมาย เพราะนั่นหมายถึงบริษัทต้องการอำนาจความไว้วางใจจากผู้ถือหุ้นนับร้อยหรือนับหมื่นคนมาสนับสนุนและร่วมทุนกับบริษัท เพื่อระดมเอาเงินทุนจากประชาชนมาใช้ในกิจการ โดยไม่เสียดอกเบี้ย แต่ต้องอาศัยการบริหารด้วยความซื้อสัตย์ โปร่งใส มีหลักธรรมาภิบาล สร้างกำไรและผลประโยชน์ตอบแทนที่ดีแก่ประชาชน สมกับที่ประชาชนผู้ถือหุ้นไว้วางใจ

ด้วยเหตุที่บริษัทมหาชนทั้งหลาย เป็นบริษัทที่เชิญชวนประชาชนมาร่วมถือหุ้นลงทุนด้วย ประกอบกับรัฐก็ส่งเสริมสนับสนุน ให้ประชาชนนำเงินออมของตนมาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ รัฐจึงได้สร้างตลาดหลักทรัพย์ขึ้นมา พร้อมกับการตรากฎหมาย พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ขึ้นมาบังคับใช้ โดยมีกลไกที่เรียกว่า คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ขึ้นมาควบคุมและกำกับ บริษัทมหาชนจำกัด  ที่จดทะเบียนเป็นบริษัทมาระดมทุนจากประชาชน ด้วยความเชื่อถือไว้วางใจต่อกลไกดังกล่าว ประชาชนจำนวนมากทั่วประเทศจึงตัดสินใจลงทุนในตลาดหลักทรัพย์

แต่สถาพการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ผ่านมา กับการทำหน้าที่ของ ก.ล.ต. ผมอยากจะบอกว่ามีลักษณะไม่แตกต่างกันเลย กับกรณีของพรรคการเมืองไทยกับ กกต. ในแง่ของการควบคุมและกำกับให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อประโยชน์ของประชาชน

บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีหุ้นเน่าจำนวนมาก นักปั่นหุ้นหากินหลอกลวงต้มตุ๋นผู้ลงทุน ผู้บริหารบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ ทำผิดกฎหมาย ผิดข้อบังคับ ละเมิดกฎเกณฑ์ของตลาดและข้อห้ามของ ก.ล.ต. กระทั่งโกงผู้ถือหุ้น ยักยอกทรัพย์ ไซฟ่อนเงินออกจากบริษัท เห็นความผิดตำตา ก.ล.ต.ก็ยังทำเป็นหูหนวกตาบอด ไม่ดำเนินการใดตามอำนาจ จนผู้ถือหุ้นเหลืออดทนไม่ไหว ต้องยื่นฟ้องต่อศาลกล่าวหา ก.ล.ต.ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ดังที่ปรากฏเป็นข่าวในขณะนี้ ไม่ต่างจาก กกต.ก็เคยโดนฟ้องด้วยข้อหานี้และถูกพิพากษาให้ลงโทษจำคุกอยู่ในขณะนี้

ปัญหาทางการเมืองกับปัญหาในตลาดทุน มีลักษณะใกล้เคียงกัน นักการเมืองที่ด้อยคุณภาพ พรรคการเมืองที่ต่ำมาตรฐาน ไร้กลไกควบคุมที่ดี มีให้ประชาชนเลือกดาษดื่นเช่นกัน กลไกควบคุมก็อ่อนแอไร้ประสิทธิภาพ ผมจึงเห็นว่า ประเทศไทย ไม่ว่าปัญหาการเมืองหรือเรื่องธุรกิจเป็นเรื่องที่เราต้องปฏิรูปอย่างจริงจัง ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องคนกับระบบที่ยังไปด้วยกันไม่ได้ในแทบทุกวงการ ตราบใดที่เรายังปล่อยให้สภาพการบังคับใช้กฎหมายยังไร้ประสิทธิภาพเช่นนี้ต่อไป การปฏิรูปประเทศในทุกๆ ด้านก็คงไร้ผล

คอลัมน์ : ข้าพระบาท ทาสประชาชน/หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ / ฉบับ 3272 ระหว่างวันที่ 22-24 มิ.ย.2560