กสทช.กาง 4 ยุทธศาสตร์รายได้

24 มิ.ย. 2560 | 01:45 น.
“ฐากร” เผยครึ่งปีหลัง กสทช.วางยุทธศาสตร์ 4 ด้านเปิดประมูลเลขสวย-รอราชกิจจาฯกฎหมายใหม่-ประมูลคลื่น 1800-โครงการเน็ตประชารัฐ การันตีทุกโปรเจ็กต์มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้

[caption id="attachment_165650" align="aligncenter" width="500"] นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์[/caption]

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับแผนยุทธศาสตร์ของ กสทช. ในช่วงครึ่งปีหลังมีเรื่องที่ต้องขับเคลื่อน คือหารายได้ให้กับรัฐ โดยไปประมูลเลขสวย เป็นจุดเริ่มต้นที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน โดย กสทช. ได้นำเอาเลขที่เคยจัดสรรให้โอเปอเรเตอร์ ดึงออกมาจำนวน 1.3 หมื่นเลขหมายประมูลไปได้กว่า 3 พันล้านบาท ในวันที่ 25 มิถุนายน ประมูลอีกจำนวนกว่า 100 เลขหมาย เป็นเงินอีกกว่า 100 ล้าน ซึ่ง กสทช. จะทยอยประมูลไปเรื่อยๆ

สำหรับเรื่องที่ 2 คือ ก.ม. ใหม่ของ กสทช. กำลังอยู่ระหว่างรอประกาศใช้ในราชกิจจา เพื่อ มีผลบังคับใช้ต่อไป แต่กระบวน การทั้งหมด กสทช.ได้เตรียมการจะประมูลคลื่นความถี่ต่อไปอีก เช่น 1800 และ 2600 เมกะเฮิรตซ์
ส่วนที่ 3 คือ เตรียมแผนประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ได้ให้สัญญาสัมปทานกับ ดีแทค หรือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ แคท จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานวันที่ 30 กันยายน 2561

ส่วนเรื่องสุดท้าย คือ โครงการประมูลเน็ตประชารัฐ จะมีการออกประกวดราคา วันที่ 20 มิถุนายนนี้ ทั้งหมดจะมีการทยอยเปิดบริการอย่างน้อย 100 จุด ภายในเดือนธันวาคม และจะทยอยเปิดให้ครบในพื้นที่ชายขอบที่ กสทช.รับผิดชอบอยู่พื้นที่ชายขอบหรือรีโมตแอเรียที่ไม่มีใครสนใจเข้าไปทำเลย ตรงนี้เป็น กลุ่มประชาชนที่เสียเปรียบจำนวน 3,920 หมู่บ้านในพื้นที่ทั่วประเทศทุกภาค ซึ่ง กสทช. กำลังเตรียมจัดเปิดประมูลและจะไปเชื่อมกับกระทรวงดีอี ที่จะประมูลเน็ตประชารัฐเช่นเดียวกัน และให้ทุกอย่างแล้วเสร็จ ภายในเดือนกันยายน 2561 ตรงนี้จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ เพราะเป็นการวางระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน

[caption id="attachment_166078" align="aligncenter" width="435"] กสทช.กาง4ยุทธศาสตร์รายได้ กสทช.กาง4ยุทธศาสตร์รายได้[/caption]

“ค่าบริการของเน็ตประชารัฐ จะต้องถูกกว่าปัจจุบัน นำไปเปรียบเทียบกับเอกชน ราคาทั่วไปตอนนี้ ในตลาด 30 เมกะบิตอยู่ที่ 599 บาทเหมาจ่าย พอรัฐเป็นคนลงทุน อาจจ่ายแค่ 200 บาทต่อครัวเรือน เป็นต้น”

นายฐากร ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า โครงการจัดประกวดราคาไม่ว่าจะแป็นการประมูลคลื่นความถี่ กสทช. นำเข้าสู่โครงการคุณธรรมทั้งหมด มีหน่วยงานตรวจสอบ ป.ป.ช. สตง. เข้ามาเป็นกรรมการทั้งหมดเพื่อให้เกิดความโปร่งใส

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,272 วันที่ 22 - 24 มิถุนายน พ.ศ. 2560