ลุ้นศรีรัชเชื่อมโทลล์เวย์ ชงคจร.ไฟเขียวกทพ.เจ้าภาพก่อสร้าง

23 มิ.ย. 2560 | 21:05 น.
ลุ้นสนข. เร่งชงคจร.ไฟเขียวให้กทพ. เป็นเจ้าภาพเดินหน้าโครงการสร้างทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครเชื่อมดอนเมืองโทลล์เวย์ มูลค่าราว 4,000 ล้าน เร่งหาเจ้าภาพลงทุน จับตา BEM ผนึกดอนเมืองโทลล์เวย์ร่วมลงทุน

แหล่งข่าวระดับสูงของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งนำเสนอโครงการก่อสร้างโครงข่ายทางเชื่อม
ระหว่างทางยกระดับอุตราภิมุขและทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครเข้า
สู่การพิจารณาของคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เพื่อมอบหมายให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบดำเนินการต่อไป

“เบื้องต้นเมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาสนข.ได้สรุปความก้าวหน้าโครงการเสนอกระทรวงคมนาคมพร้อมกับระบุว่าให้กทพ.เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบดำเนินโครงการ ซึ่งสนข.จะเร่งนำเสนอคจร.อนุมัติอย่างเป็นทางการต่อไป”

[caption id="attachment_165988" align="aligncenter" width="503"] ลุ้นศรีรัชเชื่อมโทลล์เวย์ ชงคจร.ไฟเขียวกทพ.เจ้าภาพก่อสร้าง ลุ้นศรีรัชเชื่อมโทลล์เวย์ ชงคจร.ไฟเขียวกทพ.เจ้าภาพก่อสร้าง[/caption]

ทั้งนี้การเร่งขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวขณะนี้จึงยังไม่สามารถจะกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนเนื่องจากจะต้องรอการพิจารณาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) รอการพิจารณาของคจร. นอกจากนั้นยังจะต้องนำเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาเกี่ยวกับการร่วมลงทุนเพื่อนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการพีพีพี) เห็นชอบต่อไป

“กรณีเรื่องพ.ร.บ.ร่วมทุนในโครงการดังกล่าวนั้นยอมรับว่ามีไม่กี่รายที่จะมีศักยภาพในการลงทุนโครงการดังกล่าว คือ บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BEM และบริษัททางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ จำกัด (มหาชน) ส่วนรายอื่นนั้นคงจะต้องแข่งขันสูงอย่างมากหากต้องการเข้าไปดำเนินการโครงการดังกล่าว แต่คงต้องจับตาว่า 2 รายนี้จะร่วมทุนด้วยกันพัฒนาโครงการดังกล่าวหรือไม่ เนื่องจากยังมีประเด็นอายุสัญญาสัมปทานโดยดอนเมืองโทลล์เวย์ยังเหลืออีกถึงปี 2577 ส่วน BEM เพิ่งเริ่มลงทุนและจะครบกำหนดในปี 2585 ประการสำคัญยังเป็นโครงการที่ร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ อาทิ กรมทางหลวง (ทล) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ดังนั้นเมื่อได้เจ้าภาพดำเนินโครงการชัดเจนแล้วคาดว่าจะมีความคืบหน้าในด้านอื่นๆต่อไป”

[caption id="attachment_65006" align="aligncenter" width="371"] ธานินทร์ สมบูรณ์ ธานินทร์ สมบูรณ์[/caption]

ด้านนายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่าพร้อมให้การสนับสนุนโครงการ ซึ่งในเบื้องต้นอยากให้ได้เจ้าภาพชัดเจนในจุดเชื่อมทางด่วนศรีรัชและดอนเมืองโทลล์เวย์ แต่สำหรับจุดเชื่อมด้านหน้าสนามบินดอน เมืองนั้นต้องให้ท่าอากาศยานดอนเมืองนำเสนอเรื่องดังกล่าว

“ประเด็นแรกต้องให้ชัดเจนก่อนว่าใครจะเป็นผู้ลงทุน จุดการออกแบบเชื่อมโทลล์เวย์จะใช้จุดไหน อย่างไรแต่ทล. พร้อมให้การสนับสนุนเต็มที่ ปัจจุบันระยะทางออกจากสนามบินดอน เมืองเพื่อขึ้นสู่ทางยกระดับโทลล์เวย์จะใช้ระยะทางราว 3-4 กิโลเมตร ขณะนี้โทลล์เวย์ยังเป็นเจ้าของสัมปทานทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ประการสำคัญผู้ใช้บริการจะมีทางเลือกในการเดินทางเพิ่มขึ้น ดังนั้นต้องรอความเห็นจากสนามบินดอนเมืองว่ามีแผนดำเนินโครงการดังกล่าวหรือไม่อย่างไร”

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงของสนามบินดอนเมืองรายหนึ่งกล่าวว่า เดิมมีแนวคิดที่จะดำเนินการโครงการดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะช่วงฝนตกหนัก จุดดังกล่าวจะมีนํ้าท่วมขังที่ก่อให้เกิดปัญหาจราจรเกี่ยวพันเข้ามาสู่พื้นที่สนามบินดอนเมือง

“ดอนเมืองได้มีการจ้างสำรวจออกแบบไว้บ้างแล้ว เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในสนามบินด้วย ซึ่งการเชื่อมตรงออกสู่โทลล์เวย์ได้จะสามารถอำนวยความสะดวกได้อย่างมาก ล่าสุดต้องลุ้นว่าผู้อำนวยการท่าอากาศ ยานดอนเมืองคนใหม่จะยังสนใจแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้อยู่หรือไม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาที่ได้มีการศึกษาแผนการพัฒนาขยายสนามบินดอนเมืองและรวมถึงการแก้ไขปัญหาจราจรพร้อมกันไปด้วย”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,272 วันที่ 22 - 24 มิถุนายน พ.ศ. 2560