เขตเศรษฐกิจพิเศษ ยุทธศาสตร์คันไซ

24 มิ.ย. 2560 | 00:07 น.
TP11-3272-B เขตเศรษฐกิจพิเศษยุทธศาสตร์คันไซ ของญี่ปุ่น ถือเป็นต้นแบบ ในการนำมาพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีของไทย เนื่องจากมีการบริหารจัดการใน 2 ระดับ คือ 1.กลไกระดับชาติ ประกอบด้วย สภาเขตพิเศษยุทธศาสตร์แห่งชาติ ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีหน้าที่หาข้อยุติกรณีการเจรจา ของคณะทำงานฯและหน่วยงานต่างๆ 2.กลไกระดับพื้นที่ ทำงานภายใต้สภาเขตพิเศษ ประกอบไปด้วยผู้แทนจากรัฐบาลกลาง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ทำงานร่วมกันเพื่อจัดเตรียมแผนพัฒนา แผนงาน โครงการ และการขับเคลื่อนการปฏิรูปกฎหมาย

ดังนั้น ด้วยจุดแข็งของเขตเศรษฐกิจพิเศษยุทธศาสตร์คันไซ ที่มีศักยภาพในหลากหลายด้าน จึงถูกนำมาเป็นแนวคิดการพัฒนาของอีอีซี ไม่ว่าจะเป็น 1. มีการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรม โดยเฉพาะศูนย์กลางนวัตกรรมทางการแพทย์และพลังงานโดยให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา (R&D) รวมถึงการพัฒนาเมืองให้เอื้อต่อการอยู่อาศัยของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศซึ่งภูมิภาคคันไซเป็นแหล่งที่ตั้งของอุตสาหกรรมหลากหลายสาขา

2.ส่งเสริมการพัฒนาในลักษณะของการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม (Industrial Clusters) โดยเป็นฐานการผลิตและเป็นแหล่งคลัสเตอร์อุตสาหกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรม จำนวน 13 กลุ่มกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ

3.มีการพัฒนาที่มุ่งเน้นเรื่อง Green Technology/Green Innovation ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆกับการส่งเสริมด้านเศรษฐกิจควบคู่?ไปด้วย

4.มีการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เน้นนวัตกรรมร่วมกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวซึ่งคันไซเป็นศูนย์กลางความเจริญทางการเมือง ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของญี่ปุ่นมายาวนาน และมีเมืองที่ได้รับการจัดอันดับว่าน่าอยู่และน่าท่องเที่ยวที่สุดในเอเชียและมีชื่อเสียงในระดับโลก ซึ่งพื้นที่ EEC เอง จัดได้ว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในระดับโลก โดยเฉพาะการท่องเที่ยวทางทะเลที่สำคัญเช่น อ่าวบางแสน อ่าวพัทยา เกาะเสม็ด เกาะสีชัง เป็นต้น

5. มีการปฏิรูปกฎหมายและกฎระเบียบให้เอื้อต่อการเข้ามาลงทุนของบริษัทต่างชาติในด้านการเงิน สิทธิประโยชน์ทั้งที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย การจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จเพื่อให้บริการด้านการลงทุนที่มีประสิทธิภาพและครบวงจร

6.เป็นแหล่งที่ตั้งของสถาบันการศึกษาชั้นนำและสถาบันวิจัยชั้นนำ โดยเป็นแหล่งที่ตั้งของมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางของสถาบันวิจัยที่ผลิตผลงานที่เป็นนวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และพลังงาน โดยเป็นแหล่งรวมของบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life Science)

จากความโดดเด่นและแนวทางการพัฒนาข้างต้น ทำให้เราเชื่อมั่นได้ว่าศักยภาพของเขตเศรษฐกิจพิเศษยุทธศาสตร์คันไซจะสามารถนำมาช่วยในการขับเคลื่อน การดำเนินงานตามนโยบายการพัฒนา EEC ของไทยให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,272 วันที่ 22 - 24 มิถุนายน พ.ศ. 2560