ตั้งสถาบันหนุน EECi สวทช.ดึงเกาหลีญี่ปุ่นยกระดับบุคลากร-คุณภาพชีวิต

24 มิ.ย. 2560 | 02:00 น.
สวทช.แจงความคืบหน้าโครงการพัฒนา EECi เล็งดึง “เกาหลี-ญี่ปุ่น” ตั้งสถาบันการศึกษาระบุชุมชนพื้นที่แฮปปี้ หลังเดินสายลงพื้นที่ ชี้ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต-นํ้า-อากาศ-เศรษฐกิจในพื้นที่และพื้นทีใกล้เคียง

การจัดตั้งเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” หรือ EECi : Eastern Economic Corridor of Innovation ถือเป็นหนึ่งในโครงการที่ขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EEC)

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยความคืบหน้าของโครงการพัฒนา “เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” ว่า ขณะนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สวทช. ได้ศึกษาความเหมาะสม (Feasibility Study) ของการจัดตั้ง EECi และลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากชุมชนในพื้นที่แล้ว ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี เพราะชุมชนเห็นว่า EECi จะช่วยพัฒนาพื้นที่และความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงได้อย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนั้น สวทช. ยังได้ระดมความคิดเห็นจากภาคเอกชนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อนำความต้องการของภาคอุตสาหกรรมไปจัดทำแผนแม่บทการพัฒนา EECi ที่จะตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างรายได้และการเติบโตให้กับเศรษฐกิจของประเทศต่อไปอย่างยั่งยืน

[caption id="attachment_165943" align="aligncenter" width="503"] ตั้งสถาบันหนุนEECi สวทช.ดึงเกาหลีญี่ปุ่นยกระดับบุคลากร-คุณภาพชีวิต ตั้งสถาบันหนุนEECi สวทช.ดึงเกาหลีญี่ปุ่นยกระดับบุคลากร-คุณภาพชีวิต[/caption]

“โครงการ EECi กำลังสร้างอีโคซิสเต็มใหม่ ในอีโคซิสเต็มนั้นจะมีตั้งแต่นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ ที่เข้ามา ซึ่งต้องได้รับการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งที่พัก โรงแรม ร้านค้า สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ สถานศึกษา เพราะนักวิจัยนานาชาติเหล่านี้ต้องพาครอบครัวเข้ามาอยู่ในไทย ซึ่งจะทำให้พื้นที่ตรงนั้นคุณภาพชีวิตดีขึ้น และจะทำให้เกิดการใช้จ่าย ทั้งในพื้นที่ และพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากนี้จะต้องมีการจัดการเรื่องคุณภาพนํ้า จัดการเรื่องคุณภาพอากาศ ซึ่งจะถูกพัฒนาไปในเวลาเดียวกัน คนในพื้นที่ บุตรหลานก็ได้มีโอกาสเรียนในโรงเรียนที่ดีมีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่ดีขึ้น โรงพยาบาล บุตรหลานเข้ามาฝึกงานในโครงการ มีงาน นอกเหนือจากการลงทุน”

ดร.ณรงค์ กล่าวต่อไปอีกว่าภายหลังจากระดมความเห็นจะทำมาสเตอร์แพลน ใน 2,000 ไร่ จะเริ่มต้นพื้นที่ 350 ไร่ เพื่อสร้างอาคารและ สำนักงานต่างๆ โดยโครงการนี้เป็นโครงการระยะยาว 10-20 ปี โดยการทำงานจะแบ่งเป็นเฟสๆ เฟสแรก คือ พัฒนาอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่ ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนต่อเนื่อง

ส่วนเฟส 2 พัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ ทั้งไบโอโลยี เอนไซม์ ซึ่งต้องสร้างอุตสาหกรรมใหม่ขึ้นมา โดยไทยมีส่วนผสมเหล่านี้อยู่ ซึ่งที่ผ่านมามีโปรดักต์ใน สวทช.และมหาวิทยาลัย โดยอีอีซีไอ จะนำโปรดักต์เหล่านี้รออยู่ ที่ต้องการมาพัฒนาต่อยอดสู่ตลาด ในระยะเวลา 2-3 ปี ถ่ายออกไปให้เป็นอุตสาหกรรมของประเทศ ส่วนเฟส 3 พัฒนาคน และเฟส 4 การพัฒนาสู่ความยั่งยืน

ดร.ณรงค์ กล่าวต่อไปอีกว่าส่วนด้านระเบียบข้อกฎหมาย ในพื้นที่ต้องผ่อนปรนกฎระเบียบตามกฎหมายใหญ่ คือ EEC ซึ่งคุม EECi ทั้งเงื่อนไขลดภาษีนิติบุคคล 15 ปี หรือ ภาษีรายได้ส่วนบุคคล สำหรับกลุ่มนักวิจัย ที่จัดเก็บ 15%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,272 วันที่ 22 - 24 มิถุนายน พ.ศ. 2560