อย่าโหมพัฒนาพลังานทดแทน

24 มิ.ย. 2560 | 00:07 น.
พลังงานทดแทน มีหลายฝ่ายออกมาเตือนถึงการพัฒนาพลังงานทดแทน หลังจากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีดำริที่จะให้เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจากเดิม 20% เป็น 40% ภายในปี 2579 ซึ่งตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (เออีดีพี) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน กำหนดเป้าหมายการพัฒนาพลังงานทดแทนไว้ที่ประมาณ 1.6 หมื่นเมกะวัตต์ ปัจจุบันมีพันธะสัญญาในการขายไฟฟ้าเข้าระบบแล้วกว่า 9 พันเมกะวัตต์

สิ่งที่เตือนจับใจความได้ว่า เวลานี้ประเทศไทย ไม่ควรที่จะโหมเร่งพัฒนาพลังงานทดแทนมากจนเกินไปหรือเกินความจำเป็น เพราะเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ก็ส่งผลกระทบต่อค่าเอฟทีกว่า 21 สตางค์ต่อหน่วยแล้ว เป็นภาระที่ประชาชนต้องจ่าย

30004275_s ที่สำคัญยิ่งการส่งเสริมพลังงานทดแทนมากเท่าไร ก็ยิ่งต้องสร้างโรงไฟฟ้าจากฟอสซิลมารองรับ เพราะพลังงานทดแทนพึ่งพาไม่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้เป็นภาระของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่จะต้องลงทุน และผลก็มาตกกับประชาชนในการแบกรับค่าไฟฟ้าอยู่ดี

แต่ที่กล่าวมานี้ไม่ได้หมายความว่า จะให้ภาครัฐยุติการส่งเสริมหรือเลิกการพัฒนาพลังงานทดแทน แต่ควรจะดูจังหวะ ประเภทเชื้อเพลิง รวมถึงต้นทุนในการพัฒนา เพราะอย่าลืมว่าขณะนี้การพัฒนาเทคโนโลยีของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนนั้นไปเร็วมาก ทำให้ต้นทุนถูกลงมาแข่งขันกับเชื้อเพลิงฟอสซิลได้แล้ว

มีตัวอย่างให้เห็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์ฟาร์ม ที่แต่ก่อนต้องนำเงินไปอุดหนุนหรือ Adder ถึง 8 บาทต่อหน่วย และค่อยๆ ปรับลดลงมา 6.50 บาทต่อหน่วย จนปัจจุบันปรับเป็นในรูปฟีดอินทาริฟ (เอฟไอที) ที่ 4.12 บาทต่อหน่วย และหากเป็นในรูปผสมผสานกับเชื้อเพลิงอื่น (ไฮบริด) ก็จะเหลือเพียง 3.66 บาทต่อหน่วย

ดังนั้น ในระหว่างที่กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพีใหม่นี้ ควรจะพิจารณาถึงความเหมาะสมว่าในช่วง 2-3 ปีนี้ มีความจำเป็นต้องเร่งพัฒนาพลังงานทดแทนหรือไม่ เพื่อที่จะรอเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ มารองรับให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมีต้นทุนถูกลงได้อีก และสามารถใช้เป็นโรงไฟฟ้าฐาน เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าที่ใช้ฟอสซิลได้ เพราะอย่างน้อยก็ช่วยให้ประชาชนไม่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่ม จากการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,272 วันที่ 22 - 24 มิถุนายน พ.ศ. 2560