ปธ.อุตฯเหล็กแนะรัฐลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจแก้ปัญหาเหล็กล้นตลาด

24 มิ.ย. 2560 | 04:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

จับตาอินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ดึงนโยบายรัฐขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในประเทศ ขณะที่ไทยภาคเอกชนอยากเห็น งบลงทุนจากภาครัฐ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภายในประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แนะโครงการรถไฟไทย-จีนควรเอื้อต่ออุตฯเหล็กในประเทศก่อน ช่วยแก้ปัญหาเหล็กล้นตลาด

นายวิกรม วัชระคุปต์ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ถึงการร่วมงานสัมมนาของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAISI) ที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อเร็วๆนี้ว่า มีประเด็นที่น่าสนใจในเวทีสัมมนาดังกล่าวโดยเฉพาะนโยบายของ 3 ประเทศคือ อินเดีย สิงคโปร์ และมาเลเซียที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมต่างๆในประเทศของตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะกับอุตสาหกรรมเหล็ก ไล่ตั้งแต่อินเดีย ที่ประกาศขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยโครงการ“เมค อิน อินเดีย” (Make inIndia) คือโครงการริเริ่มของรัฐบาลอินเดียเพื่อส่งเสริมให้บริษัทต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ หันมาตั้งฐานการผลิตสินค้าในประเทศอินเดียและสร้างภาพลักษณ์ให้กับสินค้าที่ผลิตในอินเดียให้เป็นที่ยอมรับในเวทีการค้าโลก หวังยกระดับประเทศอินเดียให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าของโลก

[caption id="attachment_165907" align="aligncenter" width="400"] วิกรม วัชระคุปต์ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) วิกรม วัชระคุปต์[/caption]

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวจะรวมถึงการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานในประเทศโดยใช้วัตถุดิบภายในประเทศ นำเรื่องการลงทุนภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อนซึ่งในส่วนนี้จะเกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมเหล็กในอินเดียด้วย เนื่องจากมีปริมาณเหล็กดิบที่ผลิตในประเทศราว 89-90 ล้านตัน มีกำลังผลิตมากเป็นอันดับ 3 ของโลก

สำหรับประเทศมาเลเซียขณะนี้มีนโยบาย 2 เรื่องที่น่าสนใจคือ 1. เปิดให้มีการ M&Aหรือควบรวมกิจการ ในอุตสาหกรรมเหล็ก โดยล่าสุดรัฐบาลมาเลเซียกำลังพิจารณามาตรการจูงใจเพื่อให้อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศเมื่อรวมกิจการกันแล้วมีขีดความสามารถสูงขึ้น และสามารถแข่งขันได้ โดยดูว่าจะสนับสนุนการ M&A นี้อย่างไร 2.มาเลเซียผลักดันให้ใช้ระบบ Industrialised Building System (IBS)หรือระบบก่อสร้างเชิงอุตสาหกรรม เพื่อแก้ปัญหาการใช้แรงงานต่างด้าว และเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ประกอบการโดยผู้ผลิตเหล็กในประเทศมาเลเซียจะสามารถขายเหล็กเข้าโครงการและโรงงานได้เลย จากปกติถ้าเป็นงานก่อสร้าง จะผ่านพ่อค้าคนกลางก่อน ซึ่งวิธีนี้จะเป็นการช่วยให้ผู้ประกอบการเหล็กสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ โดยมาเลเซียมีปริมาณผลิตเหล็กภายในประเทศราว 10 ล้านตันต่อปี

ด้านประเทศสิงคโปร์ จะโฟกัสเรื่องการพัฒนาประเทศซึ่งมีงานก่อสร้างจำนวนมากใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เป็น “โมดูลาร์ ซิสเต็ม” ที่ทำให้งานก่อสร้างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้คนน้อยลง ซึ่งขณะนี้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง รัฐบาลสิงคโปร์กำลังโปรโมตเหมือนให้เป็น “ฮับ”สำหรับผลิตงานก่อสร้างโดยมีรัฐบาลอุดหนุนหลายส่วน

“นโยบายของแต่ละประเทศเพื่อนบ้านของเรา ล้วนน่าสนใจ เพราะภาครัฐขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภายในประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ พยายามใช้วัตถุดิบภายในประเทศที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ซึ่งเราอยากเห็นนโยบายโดยรวมของไทยที่ชัดเจนแบบนี้ โดยเฉพาะงบลงทุนภาครัฐ ที่ควรจะออกมาเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ จะเห็นว่าประเทศอื่นพยายามนำนโยบายรัฐเป็นตัวขับเคลื่อน แต่ของเรายังไม่มีแนวคิดแบบนี้ ดังนั้นโครงการรถไฟไทย-จีนก็ควรจะส่งเสริมเหล็กในประเทศเป็นหลักก่อน”

อย่างไรก็ตามยังคาดหวังว่าโครงการรถไฟไทย-จีน ที่เรี่มเฟสแรกเส้นทางกทม.-โคราชในส่วนของงานโยธา จะมีการใช้เหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ที่ผู้ผลิตไทยมีขีดความสามารถในการผลิตที่มีประสิทธิภาพรองรับได้ทั้งหมดยกเว้นเหล็กรางที่ต้องนำเข้ามา รัฐบาลก็น่าจะทำให้การลงทุนครั้งนี้เอื้อประโยชน์ต่อผู้ผลิตเหล็กในประเทศด้วยโดยปัจจุบันมีปริมาณผลิตเหล็กเส้น 9-10 ล้านตัน แต่ผู้ผลิตผลิตในประเทศได้เพียง 3 ล้านตันต่อปีเท่านั้นยังเหลือกำลังผลิตอีกมากซึ่งในส่วนนี้ยังไม่รวมกำลังผลิตกลุ่มเหล็กแผ่น

สอดคล้องกับที่แหล่งข่าวจากวงการผลิตเหล็กเส้นรายหนึ่งกล่าวว่า ปัจจุบันภาพรวมของอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศตกหลุมอากาศต่อเนื่องมาหลายปีโดยภาพรวมเหล็กในประเทศอยู่ในสภาพล้นตลาด ปัญหาใหญ่ที่สุดก็มาจากที่เหล็กจีนเข้ามาทุ่มตลาดยังประเทศในกลุ่มอาเซียนรวมถึงไทยจนทุกประเทศต้องเดินมาตรการตอบโต้ แต่สุดท้ายก็ยังไม่สามารถจัดการกับปัญหาเหล็กราคาถูกจากจีนที่มาตีตลาดได้ ด้วยข้อได้เปรียบในแง่ขนาดการผลิตของจีนใหญ่ ทำให้ต้นทุนรวมตํ่ากว่า ส่วนเรื่องคุณภาพเหล็กจากจีนก็มีทั้งดีและไม่ดี แต่ผู้บริโภคก็ไม่ควรเสี่ยงซื้อเหล็กราคาถูกมาใช้ เพราะเป็นเรื่องของความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,272 วันที่ 22 - 24 มิถุนายน พ.ศ. 2560