เปิด 3 ข้อสังเกต สตง. ปม #BangkokAirways ขอใช้ป่า ผุดสนามบินพังงา

19 มิ.ย. 2560 | 12:03 น.
สตง. มี 3 ประเด็นข้อสังเกต ส่งถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบการขอให้ทบทวนคำขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าสร้างสนามบิน จ.พังงา ของบางกอกแอร์เวย์ส

วันที่ 19 มิ.ย. 60 -- จากกรณีที่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บางกอกแอร์เวย์ส ยื่นคำร้องต่อสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.พังงา (ทสจ.พังงา) เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2559 ขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติคลองทุ่งมะพร้าว ต.ลำแก่น อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา จำนวน 2,000 ไร่ เพื่อก่อสร้างสนามบิน

 

19-Jun-17 2-06-29 PM

โดยคำขออนุญาตนี้ เจ้าหน้าที่ป่าไม้มีการสำรวจพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติคลองทุ่งมะพร้าว ร่วมกับตัวแทนบางกอกแอร์เวย์ส พบว่า พื้นที่ที่ขออนุญาตเป็นป่าเสื่อมโทรม ไม่มีสภาพป่าแล้ว จึงอนุมัติให้ใช้พื้นที่ป่าได้ แต่คำขออนุญาตดังกล่าวยังไม่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมป่าไม้ ซึ่งเป็นด่านสุดท้ายที่จะชี้ขาดว่า จะอนุญาตหรือไม่

 

19-Jun-17 2-06-51 PM
ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยกับ “สปริงนิวส์” ว่า ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึง พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอให้มีการทบทวนคำขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองทุ่งมะพร้าว เพื่อสร้างสนามบินแล้ว โดย สตง. มี 3 ประเด็นที่เป็นข้อสังเกต

1.เรื่องที่เสนอเป็นอันตรายกับพื้นที่ป่า อาณาเขตโดยรอบพื้นที่ขออนุญาต น่าจะเป็นพื้นที่ป่าชายเลน แต่เจ้าหน้าที่ป่าไม้กลับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่า โดยอ้างว่า หากสร้างสนามบินจะช่วยยับยั้งการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลน
2.อาจกระทบระบบนิเวศป่าชายเลนและความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งไม่อาจประมาณมูลค่าความเสียหายได้ ไม่ว่าตรงนั้นเป็นพื้นที่ป่าชายเลนที่เป็นป่าอนุรักษ์หรือป่าชายเลนประเภทอื่น เพราะอาจจะมีส่วนทำลายป่าชายเลน ซึ่งเป็นแหล่งพลังงาน, อาหาร, ที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ และแหล่งสร้างรายได้ของประชาชนในพื้นที่
3.งานก่อสร้างสนามบินเป็นโครงการขนาดใหญ่ อาจเข้าข่าย พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนกับกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 แต่กลับไม่มีการนำกฎหมายนี้มาประกอบการพิจารณา อาจทำให้ราชการเสียประโยชน์

นอกจากนี้ สตง. ยังมีข้อเสนอแนบท้ายด้วยว่า หากจำเป็น เหมาะสม และคุ้มค่าในการให้ใช้พื้นที่ป่า ควรเปิดกว้างให้เอกชนรายอื่นที่สนใจเข้าร่วมคัดเลือกใช้พื้นที่ป่าด้วย เพื่อให้รัฐได้ประโยชน์สูงสุด แต่ขณะนี้ มีเพียงเอกชนรายเดียวเท่านั้นที่เสนอขอ

และสุดท้าย สตง. มีคำแนะนำถึงเจ้าหน้าที่ป่าไม้ว่า น่าจะขัดกับอำนาจหน้าที่กรมป่าไม้ ที่มีหน้าที่โดยตรงในการป้องกันรักษาป่า ควบคุมดูแล ป้องกันการบุกรุกทำลายป่า จึงเสนอให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ตระหนักในหน้าที่ หากมีป่าเสื่อมโทรม ต้องวิเคราะห์ว่า เกิดจากธรรมชาติ หรือไม่เข้มงวดในการรักษาป่า หรือตั้งใจให้เป็นป่าเสื่อมโทรม เพื่อแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ