เป้าหมายที่ต้องพุ่งชน ของเลขาธิการ กสทช.วาระ 2

24 มิ.ย. 2560 | 00:00 น.
ต้นปีที่ผ่านมา "ฐากร ตัณฑสิทธิ์" ได้ต่อวาระ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ เลขาธิการ กสทช.เป็นวาระที่ 2 เป็นที่เรียบร้อย จากภาระหน้าที่ตลอด 5 ปีก่อนหน้า ที่เขาเข้ามารับหน้าที่เลขาธิการ กสทช.คนแกรของประเทศ ขอบอกเลยว่าไม่หมู

"ตอนแรกที่รับตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2555 ไม่เคยคิดว่าจะต้องทำงานหนักขนาดนี้ เริ่มแรกผมคิดแต่เพียงว่า จะทำหน้าที่ให้เต็มที่ ขับเคลื่อนให้ทุกอย่างเดินหน้าไปให้ได้ จนสุดท้าย ก็ไม่มีใครคิดว่า เงินรายได้จากการประมูลจะไปสูงขนาดนั้น ตั้งแต่ประมูล 3 จี ที่ได้เงินไปกว่า 5 หมื่นล้าน ประมูลทีวีดิจิตอลอีกกว่า 4 หมื่นล้าน และประมูล 4 จี อีก 2.3 แสนกว่าล้าน"

"ฐากร" เล่าว่า ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง งานในหน้าที่เจอปัญหาใหญ่ๆ มาตลอด เช่น การประมูล 4 จี 4 ใบอนุญาต ตอนนั้นมีปัญหาเรื่องบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ไม่มาจ่ายเงินค่าประมูล กสทช. ก็เปิดประมูลใหม่ โดยเริ่มต้นการประมูลจากเงินที่แจสฯ ประมูลไว้ครั้งแรก ก็ได้เอไอเอสเข้ามาเป็นผู้ได้รับใบอนุญาต และแจสฯ ก็ยอมมาจ่ายค่าปรับให้

[caption id="attachment_165270" align="aligncenter" width="388"] ฐากร ตัณฑสิทธิ์ ฐากร ตัณฑสิทธิ์[/caption]

พอช่วงปลายปี 2559 ก็มีปัญหาเรื่องทีวีดิจิตอล "ฐากร" ยอมรับว่า การยืดเวลาจ่ายค่าสัมปทาน เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าชั่วคราว เพราะขณะนี้หลายๆ ช่องยังมีปัญหาเรื่องรายได้ เพราะจากงบโฆษณาในอุตสาหกรรม 1.4 แสนกว่าล้านบาท ที่เดิมแค่แบ่งสัดส่วนอยู่แค่ 6 ช่องสัญญาณ ขณะนี้เพิ่มเป็น 20 กว่าช่องสัญญาณ และด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ทำให้เงินรายได้อีกก้อนหนึ่งประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาทถูกแย่งไปเป็นรายได้ของโซเชี่ยลมีเดีย คือ เฟสบุ๊ค และไลน์

"เรื่องทีวีดิจิตอลปีนี้ผ่านไปแล้วเพราะเขาจ่ายเงินมาแล้ว ก็ไปรอดูพฤษภาคม 2562 ปัญหาเราช่วยแก้ไปส่วนหนึ่ง เราคาดหวังว่ากว่าจะถึงตอนนั้น เศรษฐกิจจะมีการฟื้นตัวที่ดีขึ้น เราพยายามมอนิเตอร์ส่วนนี้ต่อไปเรื่อยๆ ขณะนี้พบว่าหลายช่องลดพนักงานลงเพื่อลดต้นทุน กสทช.เองก็ไม่สบายใจ นี่คือความเหน็ดเหนื่อยที่ต้องเผชิญหน้า แต่ก็ยังต้องทำต่อไป ตอนนี้เราบาลานซ์ผลประโยชน์ของรัฐ และเอกชนก็ต้องยืนอยู่ได้ต่อไป เพราะนั่นคือการทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่ม"

ในขณะที่แผนการดำเนินการปี 2560 ผ่านมาแล้วครึ่งปี กสทช. มีเรื่องที่ต้องเดินหน้า เรื่องแรก คือ หารายได้ให้กับรัฐ โดยไปประมูลเลขสวย ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ยังไม่เคยมีคนทำเลย กับการนำเลขโทรศัพท์มือถือที่เคยจัดสรรให้โอปอเรเตอร์ไป ดึงออกมา 1.3 พันเลขหมาย แล้วเปิดประมูลไปแล้ว 2 ครั้งได้รายได้กว่า 200 ล้านและวันที่ 25 มิถุนายน 2560 ประมูลอีกกว่า 168 เลขหมาย เป็นเงินอีก 100 กว่าล้านบาท ตรงนี้ กสทช.จะทยอยประมูลไปเรื่อยๆ

เรื่องที่ 2 คือเรื่องของกฎหมายใหม่ กสทช.อยู่ระหว่างการนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้สำนักราชเลขาธิการพิจารณา เพื่อมีผลบังคับใช้ต่อไป แต่ยังไม่ได้คาดการณ์ว่าจะลงมาเมื่อไร เพียงแต่กระบวนการทั้งหมด กสทช. ได้เตรียมการจัดประมูลคลื่นความถี่ต่อไปอีก เพราะปัจจุบันมีการใช้งานโทรศัพท์มือถืออยู่กว่า 120 ล้านเลขหมาย ในขณะที่คลื่นความถี่ของทุกค่ายรวมกันมีอยู่ 420 กว่าเมกะเฮิร์ต ซึ่งยังไม่เพียงพอ คลื่นที่จะเปิดประมูล คือย่านความถี่ 2600 เมกะเฮิร์ต ของ อสมท ก็จะได้อีก 3-4 ใบอนุญาต และส่วนของคลื่นความถี่ของ กสท. หรือ แคท เทเลคอม ที่ทำไว้กับดีแทค ย่าน 1800 เมกะเฮิร์ต ที่มีอยู่ 45 เมกะเฮิร์ตในปัจจุบัน และคลื่นย่าน 850 เมกะเฮิร์ตจะสิ้นสุดสัญญาณสัมปทานกับดีแทค30 กันยายน 2561 กสทช. ก็ต้องเตรียมการประมูลล่วงหน้า ที่คาดว่าทั้งหมดภายในเดือนกรกฎาคม 2561 ใบอนุญาตจะต้องเตรียมการแล้วเสร็จ รายได้จากการประมูลตรงนี้ น่าเพิ่มรายได้ให้กับรัฐอีกกว่าแสนล้านบาท

ส่วนเรื่องการประมูลเน็ตประชารัฐ จะมีการออกประกวดราคา วันที่ 20 มิถุนายน 2561 ทั้งหมดจะมีการทะยอยเปิดบริการอย่างน้อย 100 จุด ภายในเดือน ธันวาคม และจะทยอยเปิดให้ครบในพื้นที่ชายขอบที่ กสทช.รับผิดชอบ โดยรัฐกำหนดให้ทุกอย่างแล้วเสร็จ ภายในกันยายน 2561 ตรงนี้จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมาก โดยค่าบริการของเน็ตประชารัฐ จะต้องถูกกว่าราคาของเอกชนปัจจุบัน

[caption id="attachment_165267" align="aligncenter" width="461"] ฐากร ตัณฑสิทธิ์ ฐากร ตัณฑสิทธิ์[/caption]

จากการประมูลทั้งหมด จะเห็นได้ว่าเป็นเงินรายได้จำนวนมหาศาล ความโปร่งใสจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่ง "ฐากร" บอกว่า การประมูลทุกอย่างอยู่ในโครงการคุณธรรมทั้งหมด มีหน่วยงานตรวจสอบของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และยังเชิญภาคประชาชน เข้ามาเป็นกรรมการ

ปัญหาที่เจอหนักทุกปัญหา แต่ทุกปัญหามีไว้แก้ไข หน้าที่ของ เลขาธิการ กสทช. คือ พยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุด กสทช. เราพูดถึงเรื่องผลประโยชน์ของรัฐ ของเอกชน และเราต้องคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ สิ่งที่อยากเห็นคือ ให้ประชาชนมาร้องเรียนเยอะๆ เพราะนั่นคือการทำให กสทช.มองเห็นปัญหาและนำไปปรับปรุงให้ดีขึ้น

"เป้าหมายต่อไป ไม่คิดอะไรมาก ก็จะทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ทำทุกอย่างตามแผน อย่างที่บอกไปแล้วคือแผนปี 60-61 โชคดีที่ผมเป็นคนนอนหลับ ตื่นขึ้นมาก็เขียนๆ ปัญหา แล้วดูว่าจะแก้อย่างไร เรานอนตื่นขึ้นมา เช้าวันรุ่งขึ้นบางทีมันปิ๊งขึ้นมาก็แก้ปัญหาได้ ถ้าเราไม่คิดแบบนี้ ถ้าไม่รู้จักละวาง มันก็ไม่ได้"

เลขาธิการ กสทช. "ฐากร ตัณฑสิทธิ์" กล่าวปิดท้าย พร้อมเดินหน้าทำงานต่อตามแผน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,272 วันที่ 22 - 24 มิถุนายน พ.ศ. 2560