"ประวิตร"ถกร่างสัญญาประชาคม เริ่มจัดเวที 7 ก.ค. นี้

19 มิ.ย. 2560 | 08:21 น.
 

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะรองประธานคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง เป็นประธานคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง โดยมีพล.อ.ชาญชัย ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.)ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาบูรณาการข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง มี พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง พร้อมด้วยที่ปรึกษาและกรรมการเข้าร่วมประชุมอย่างพร้องเพรียง

[caption id="attachment_165014" align="aligncenter" width="351"] พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ[/caption]

ทั้งนี้พล.อ.ประวิตร กล่าวในที่ประชุมตอนหนึ่งว่า อยากให้คณะกรรมการฯทุกคนร่วมกันแสดงความคิดเห็นต่อร่างสัญญาประชาคมนี้อย่างเต็มที่ เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองให้เกิดขึ้น

จากนั้น พล.อ.ประวิตร แถลงภายหลังการประชุมว่า ในวันนี้ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นตัวร่างสัญญาประชาคมแล้ว ซึ่งทางคณะอนุกรรมการฯ ได้ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมในรายละเอียดบางประการเล็กน้อย เช่น เรื่องการปรองดองที่ต้องคำนึงถึงข้อกำหนดต่างๆ โดยคณะอนุกรรมการฯทั้ง3 คณะจะไปรวบรวมรายละเอียด เพื่อให้มีความชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด อย่างไรก็ตามคณะกรรมการฯทั้งหมดมีความคิดเห็นตรงกันว่าเรื่องความสามัคคีปรองดองจะนำไปสู่การเกิดสันติสุข ขณะที่การตั้งเวทีในพื้นที่แต่ละกองทัพภาค เพื่อนำเสนอร่างสัญญาประชาคมนั้นก็พร้อมดำเนินการได้ทันที

เมื่อถามว่า อาจจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับความปรองดอง พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ตนคิดว่าไม่มี ผู้สื่อข่าวจึงถามย้ำว่า แล้วจะบังคับใช้ได้อย่างไร พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า การดำเนินการสร้างความปรองดองทุกภาคส่วนต้องร่วมกัน สิ่งใดที่เกิดความขัดแย้งเราก็ไม่เอา

ขณะที่พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ทุกอย่างดำเนินการตามกรอบระยะเวลากำหนด ซึ่งรายละเอียดต้องให้พล.ต.คงชีพ ชี้แจง ทั้งนี้ร่างสัญญาประชาคมที่ประชุมส่วนใหญ่ได้เสนอแนะให้ความคิดเห็นปรับถ้อยคำให้มีความเหมาะสม และภายหลังการปรับแก้แล้วจะส่งให้เลขานุการคณะอนุกรรมการฯ ดู ถ้าไม่มีปัญหาทุกอย่างก็เรียบร้อย จากนั้นก็เดินหน้าจัดเวทีในแต่ละกองทัพภาค เพื่อเผยแพร่ร่างสัญญาประชาคมต่อไป โดยคาดว่าจะเริ่มในวันที่ 7 กรกฎาคม นี้