เจาะโอกาสธุรกิจคลื่นลูกใหม่ในอีอีซี

20 มิ.ย. 2560 | 23:39 น.
TP06-3271-A ปัจจุบันภาครัฐกำลังเร่งพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและให้สิทธิประโยชน์ เพื่อดึงดูดการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยแบ่งเป็น 5 อุตสาหกรรมFirst S-Curve และ 5 อุตสาหกรรมNew S-curve ซึ่งราว 60% ของกิจการในอุตสาหกรรม New S-Curveจะได้รับสิทธิประโยชน์ขั้นสูง โดยเฉพาะกิจการในอุตสาหกรรมการบินและดิจิตอล

ในระยะแรก การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมในบริเวณEEC คาดว่าจะมีมูลค่าราว 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะส่งผลบวกโดยตรงต่อธุรกิจก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง ส่วนในระยะกลาง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เช่น นิคมอุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัยธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ จะเป็นธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์ตามมาจากการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

โดยภาครัฐกำหนดพื้นที่เป้าหมาย 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ให้เป็นพื้นที่นำร่องเพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC)เนื่องจากในปัจจุบัน พื้นที่ดังกล่าวเป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่มีการใช้เทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์และปิโตรเคมี ที่สามารถต่อยอดได้ อีกทั้งพื้นที่ยังตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์เชิงคมนาคมที่สำคัญทำให้มีศักยภาพและความพร้อมในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ เหนือพื้นที่อื่น

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและการให้สิทธิประโยชน์เป็นกลยุทธ์สำคัญที่ภาครัฐใช้ดึงดูดการลงทุนของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายใน EEC ทางบก ได้แก่ รถไฟทางคู่เส้นทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย รถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง มอเตอร์เวย์เส้นทางพัทยา-มาบตาพุด

ทางอากาศ ได้แก่ สนามบินอู่ตะเภา และทางนํ้า ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ ซึ่งเมื่อโครงการเหล่านี้แล้วเสร็จจะสร้างความสะดวกทั้งในการส่งออกทางนํ้าและการขนส่งภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขนส่งกระจายสินค้าจากภาคตะวันออกโดยรถไฟไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้ รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ทั้งด้านภาษีที่เหนือกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และสิทธิประโยชน์อื่นๆ

10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ได้รับการสนับสนุนประกอบด้วย5 อุตสาหกรรม First S-Curveจำนวน 59 กิจการ และ 5 อุตสาหกรรมNew S-Curve จำนวน 35 กิจการ1โดยการพัฒนาต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ (11 กิจการ)อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (24 กิจการ)การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (10 กิจการ)การแปรรูปอาหาร (3 กิจการ) และการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ(11 กิจการ) ซึ่งปัจจุบัน ราว 80%ของเม็ดเงินลงทุนที่มาขอสิทธิประโยชน์จาก BOI กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมนี้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์

ส่วนการพัฒนา 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) เพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด ได้แก่ เครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (3 กิจการ)การบินและโลจิสติกส์ (8 กิจการ)เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (7กิจการ) ดิจิตอล (11 กิจการ) และการแพทย์ครบวงจร (6 กิจการ)โดยการพัฒนากิจการในกลุ่ม NewS-Curve ได้รับสิทธิประโยชน์ขั้นสูงจาก BOI โดยเฉพาะกิจการในอุตสาหกรรมดิจิตอลและการบิน

อีไอซีประเมินว่า กิจการใน New S-Curve ที่มีศักยภาพ ได้แก่กิจการซ่อมบำรุงอากาศยาน, กิจการผลิตโพลิเมอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และกิจการศูนย์ข้อมูลเนื่องจากมีตลาดรองรับและปัจจัยพื้นฐานสนับสนุนในพื้นที่

กิจการซ่อมบำรุงอากาศดึงดูดให้ Airbus ได้เข้ามาทำข้อตกลงกับการบินไทยเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานเรียบร้อยแล้ว

กิจการผลิตโพลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐตามนโยบาย BioEconomy ที่สนับสนุนให้มีการใช้เทคโนโลยีแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น อ้อย มันสำปะหลังเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าเพิ่มสูงอีกด้วย

กิจการศูนย์ข้อมูล (DataCenter) เพื่อเป็นที่ตั้งของ Serverในการใช้เก็บข้อมูลที่จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากการส่งผ่านข้อมูลทางโทรศัพท์มือถือและการเชื่อมโยงกระบวนการผลิตกับเทคโนโลยีดิจิตอลในอนาคต

ประเมินว่าใน 5 ปีแรก จะมีเม็ดเงินลงทุนจากภาครัฐและเอกชนราว 1.5 ล้านล้านบาทในพื้นที่ EEC ซึ่งจะส่งผลดีต่อเนื่องไปยังธุรกิจก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง นิคมอุตสาหกรรม และธุรกิจท่องเที่ยวการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาทและการพัฒนาเมืองใหม่มูลค่า 4 แสนล้านบาท จะทำให้บริษัทรับเหมาก่อสร้างรวมถึงผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างโดยเฉพาะปูนซีเมนต์และเหล็กได้รับประโยชน์ในระยะแรก

ต่อมาเมื่อระบบคมนาคมในพื้นที่ EEC แล้วเสร็จ จะส่งผลให้การขนส่งสินค้ามีความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะการขนส่งและกระจายสินค้าทางรถไฟที่เชื่อมต่อระหว่างนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือขนส่งสินค้า

ผนวกกับสิทธิพิเศษที่ภาครัฐมอบให้ คาดว่าจะสามารถกระตุ้นให้เกิดเม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายราว 5 แสนล้านบาท จะส่งผลดีต่อธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมที่มีพื้นที่ที่พร้อมสำหรับการลงทุนราว 1.5 หมื่นไร่ รวมถึงการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ห้างค้าส่งค้าปลีกเพื่อรองรับบุคลากรที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,271 วันที่ 18 - 21 มิถุนายน พ.ศ. 2560