รถไฟสายสีแดง ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ฯเติมเต็มโครงข่ายการเดินทางอย่างสมบูรณ์

21 มิ.ย. 2560 | 05:00 น.
แม้ว่าขณะนี้รถไฟสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) อยู่ระหว่างการเร่งก่อสร้าง แต่หากจะเปิดให้บริการแบบครบเต็มเส้นทางจริงๆนั้นยังคงมีอีกหลายช่วงที่จะต้องเร่งดำเนินการให้สามารถเปิดให้บริการได้อย่างสอดคล้องกัน โดยเฉพาะเส้นทางช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ที่จะเชื่อมโซนเหนือของกรุงเทพฯซึ่งเข้าสู่พื้นที่จังหวัดปทุมธานีด้วยนั้นให้สามารถอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อและหัวลำโพงตลอดจนพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น

สำหรับช่วงที่เหลือของโซนเหนือระยะทางอีกประมาณ 10 กิโลเมตรจะเชื่อมถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตนั้นจัดอยู่ในแนวเส้นทางรถไฟสายสีแดงเข้ม เพิ่มจากช่วงบางซื่อ-รังสิตอีก 4 สถานี ได้แก่ สถานีคลองหนึ่ง สถานีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สถานีเชียงราก และสถานีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฯ เป็นแนวเส้นทางระดับพื้นดิน ขนาดราง 1 เมตร(มิเตอร์เกจ)

[caption id="attachment_164313" align="aligncenter" width="342"] รถไฟสายสีแดง ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ฯเติมเต็มโครงข่ายการเดินทางอย่างสมบูรณ์ รถไฟสายสีแดง ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ฯเติมเต็มโครงข่ายการเดินทางอย่างสมบูรณ์[/caption]

นอกจากนั้นร.ฟ.ท.จะก่อสร้างทางรถไฟใหม่จำนวน 2 ทาง ใช้ระบบไฟฟ้าขับเคลื่อนแนวเส้นทางเริ่มต้นจาก กม.32+350 ช่วงจุดสิ้นสุดของโครงการระบบรถไฟชานเมือง(สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต ไปสิ้นสุดที่กม.41+187 พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในแนวเขตทางรถไฟ พร้อมสร้างรั้ว 2 ข้างทางตลอดแนวเส้นทาง ก่อสร้างสะพานลอยจำนวน 3 แห่งเพื่อแก้ไขปัญหาทางลักผ่าน

โดยจะให้มีบริการทุกๆระยะเวลา 20 นาที พร้อมหยุดรับ-ส่งทุกสถานี โดยขบวนรถที่จะนำมาให้บริการสามารถใช้ร่วมกับขบวนรถช่วงบางซื่อ-รังสิตได้ทันที ดังนั้นช่วงดังกล่าวจึงไม่จำเป็นต้องไปจัดซื้อขบวนรถมาวิ่งให้บริการประหยัดงบประมาณได้อีกมาก

ทั้งนี้ตามผลการศึกษาที่เกี่ยวกับการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารในช่วงดังกล่าวนี้ ในปี 2564 จะมีเที่ยวการเดินทางประมาณ 28,150 เที่ยวต่อวัน และจะเพิ่มเป็น 64,080 เที่ยวต่อวัน ในปี 2594 ส่วนการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ(EIRR) นั้นพบว่ามีจำนวน 24.61% มูลค่าปัจจุบันสุทธิ(NPV) 8,825 ล้านบาท

ล่าสุดอยู่ระหว่างลุ้นสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้ร.ฟ.ท.ดำเนินโครงการในกรอบวงเงิน 6,570 ล้านบาท(รวมภาษีมูลค่าเพิ่มเรียบร้อยแล้ว) ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี(ปีงบประมาณ 2560-2564) พร้อมกับให้รัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการทั้งสิ้น โดยให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายปีหรือกระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้และค้ำประกันเงินกู้ภายในประเทศให้ตามความเหมาะสมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ เพื่อให้การก่อสร้างและการเปิดให้บริการในเส้นทางรถไฟสายสีแดงสามารถให้บริการได้ครบทั้งเส้นทางทั้งหมดโดยเร็วนั่นเอง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,271 วันที่ 18 - 21 มิถุนายน พ.ศ. 2560